สสน. เผยหน้าแล้งปีนี้ ไทยแล้งหนักแน่ สัญญาณเตือนแรกมาแล้ว น้ำเค็มรุกหนักในเจ้าพระยา วันที่ 30 ม.ค. ค่าความเค็มสูงสุดรอบ 10 ปี ทำน้ำดิบผลิตประปามีรสเค็มกระทบสุขภาพประชาชน-พืชผลทางการเกษตรแล้ว จับตาเกินค่ามาตรฐานอีก 2 ช่วง วันที่ 9-19 ก.พ.นี้ และวันที่ 25 ก.พ.-12 มี.ค.นี้ ชี้หน่วยงานรัฐกำลังเร่งแก้ปัญหา
นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เปิดเผยว่า สสน.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ รวมถึงวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบนั้น จากการติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าปี 64 ประเทศไทยจะเกิดภาวะภัยแล้งแน่นอน เพราะปริมาณฝนปีที่ผ่านมาตกน้อย ทำให้น้ำในเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศบางเขื่อนมีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 20-30% ของความจุอ่าง แต่ปริมาณการใช้น้ำของไทยยังมีมากกว่า 150,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำใช้การมาก โดยสัญญาณเตือนภัยแล้งสัญญาณแรกที่เกิดขึ้นแล้วคือความเค็มรุกตัวหนักในแม่น้ำเจ้าพระยา จนส่งผลให้น้ำดิบสำหรับใช้ผลิตน้ำประปามีค่าความเค็มเกินมาตรฐาน กระทบต่อสุขภาพของประชาชน และพืชผลทางการเกษตรแล้ว
สำหรับค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ม.ค.64 และค่าความเค็มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 30 ม.ค. ค่าความเค็มที่วัดได้สูงที่สุดในรอบ 10 ปี บริเวณสถานีสูบน้ำสำแล จังหวัดปทุมธานี (ปากคลองประปา) แหล่งน้ำดิบของการประปานครหลวงสำหรับกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก โดยค่าความเค็มอยู่ที่ 2.53 กรัม/ลิตร (ก./ล.) เกินค่ามาตรฐานในการผลิตน้ำประปาที่ไม่เกิน 0.5 ก./ล. หรือสูงเกินกว่า 5 เท่า และเกินมาตรฐานสำหรับน้ำเพื่อการเกษตรที่ 2.0 ก./ล.
“ความเค็มที่รุกตัวสูงมาจากปริมาณน้ำจืดในแม่น้ำเจ้าพระยามีน้อย และเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติ (Double Peak) จากอิทธิพลของลมใต้ที่เริ่มพัดปกคลุมทะเลอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. ส่งผลให้น้ำทะเลที่พัดเข้าสู่อ่าวไทยเกิดการยกตัว และมีส่วนเสริมให้น้ำเค็มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น แม้การประปาจะมีน้ำจืดเดิมในคลองประปาช่วยเจือจาง แต่ไม่ช่วยให้ค่าความเค็มลดลงจนไม่เกินค่ามาตรฐานผลิตน้ำประปา จึงต้องเตือนไปถึงผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ที่จะต้องระวังการใช้น้ำประปาในช่วงนี้ โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและปริมณฑล”
นอกจากนี้ ค่าความเค็มของน้ำ ยังส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรแล้ว โดยเฉพาะสวนทุเรียน จังหวัดนนทบุรี ไปจนถึงพื้นที่การเกษตรของคุ้งบางกะเจ้า เพราะน้ำเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดได้ 9-20 ก./ล. ได้เข้าสู่คลองสาขาของจังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก และสมุทรปราการ ทำให้ต้นไม้และพืชผลทางการเกษตรเริ่มได้รับความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งพืชสามารถทนค่าความเค็มได้เพียง 2 ก./ล.เท่านั้น โดยไทยจะต้องเฝ้าระวังค่าความเค็ม ที่คาดจะสูงเกินเกณฑ์ปกติได้ในอีก 2 ช่วง คือ วันที่ 9-19 ก.พ.นี้ และวันที่ 25 ก.พ.-12 มี.ค.นี้ เพราะเป็นช่วงที่ระดับน้ำทะเลหนุนสูง (น้ำเกิด) และเกิดน้ำหนุนต่อเนื่องกัน 2 รอบในลักษณะ Double Peak รวมถึงเกิดกระแสลมใต้ที่พัดปกคลุมภาคกลาง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ค่าความเค็มรุกตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาครัฐกำลังเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะกรมชลประทาน ที่กำลังเพิ่มการระบายน้ำมากระแทกลิ่มความเค็ม เพื่อช่วยลดความเค็มที่รุกตัวเข้ามา แต่การระบายน้ำจากเขื่อนใหญ่ เช่น เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญของประเทศ อาจไม่เพียงพอ ที่จะใช้ผลักดันความเค็ม เพราะปีนี้น้ำใน 2 เขื่อนมีน้อย จึงต้องเก็บไว้ใช้ในหน้าแล้งนี้ด้วย ขณะเดียวกัน การระบายน้ำดังกล่าว อาจได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะผู้ใช้น้ำยังคงดักน้ำไปใช้ในพื้นที่ของตนเอง จึงต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกร รวมถึงต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างรอบคอบให้ผ่านเดือน มี.ค.นี้ไปให้ได้เพราะคาดว่า ฝนจะเริ่มตกในเดือนเม.ย.นี้ จากปกติที่มักมาในเดือน พ.ค.
“หลักสำคัญในตอนนี้ คือ เกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องเข้าใจสถานการณ์น้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤตินี้ และไม่สูบน้ำไปจากแม่น้ำลำคลอง เพราะจะทำให้การใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค มีปัญหาได้ ส่วนประชาชนทุกภาคส่วน ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติน้ำเค็มรุกตัวหนัก และภัยแล้งในปีนี้ไปให้ได้”.