เอสซีจี – ทช. – คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมต่อยอดพัฒนาวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง ด้วย 3D Cement Printing

เอสซีจี โดยธุรกิจ Cement and Construction Solution ร่วมหารือต่อยอดความร่วมมือระหว่างเอสซีจี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนารูปแบบวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง ด้วยเทคโนโลยี 3D Cement Printing มาประยุกต์ใช้เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของความร่วมมือไปอีกขั้น เมื่อผลงาน “นวัตปะการัง”  ได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2563 ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่สามารถช่วยให้ตัวอ่อนปะการังลงเกาะและเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งรูปแบบสวยงาม มีความมั่นคงเสมือนปะการังจริง ย่อยสลายได้ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในสภาพแวดล้อมและผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเล นับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทย

รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ตัวแทนจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า “แนวคิดของนวัตปะการัง เริ่มต้นจากความต้องการที่จะฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการัง โดยการสร้างฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการังที่กลมกลืนกับธรรมชาติ  “นวัตปะการัง”  มีความโดดเด่นในด้านลักษณะทางโครงสร้างที่สามารถปรับแต่งขึ้นรูป รวมทั้งความซับซ้อนของช่องว่าง การวางตำแหน่งแสงและเงา  ให้เข้ากับวิถีชีวิตของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล อีกทั้งยังมีความแข็งแรง สะดวกในการขนย้ายและติดตั้ง”

การติดตามผล พบปะการัง เริ่มลงเกาะบน นวัตปะการัง

ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการังนั้น นายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ตัวแทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีนโยบายและแผนงานการศึกษาและสำรวจพื้นที่แนวปะการังที่เหมาะสมสำหรับการฟื้นฟู จากนั้นจึงนำนวัตปะการังไปติดตั้งยังพื้นที่ เพื่อให้ตัวอ่อนปะการังลงเกาะและเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะสามารถฟื้นฟูแนวปะการังให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมได้ ไม่เพียงแต่จะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ แต่ยังสามารถต่อยอดปรับใช้แนวคิดนี้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยได้ด้วยการจัดพื้นที่และส่งเสริมสำหรับการดำน้ำ รวมทั้งสามารถสร้างอาชีพใหม่ให้แก่ชุมชนที่ประกอบอาชีพประมงได้อีกทางหนึ่ง”

สำหรับการพัฒนานวัตกรรม 3D Cement Printing นั้น นายเฉลิมวุฒิ สงวนญาติ Group Leader, Mortar Technology Research, R&I Center – Cement and Construction Solution Business ตัวแทนจากเอสซีจี  กล่าวว่า “การใช้เทคโนโลยี 3D Cement Printing มาขึ้นรูปเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง ทำให้ได้รูปแบบวัสดุที่มีรูปทรงใกล้เคียงกลมกลืนกับปะการังธรรมชาติ โดยมีโครงสร้างเปิดและพื้นที่หลบภัยสำหรับสัตว์น้ำขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาวัสดุปูนซีเมนต์ให้มีคุณสมบัติพิเศษเหมาะกับการขึ้นรูปด้วยการพิมพ์แบบ 3 มิติ และเป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตในทะเล ทว่ายังสามารถคงความแข็งแรงไว้ได้  รวมถึงได้นำโปรแกรม FEA (Finite Element Analysis) มาใช้วิเคราะห์ความแข็งแรงของชิ้นงานก่อนทำการผลิตจริง เพื่อให้มั่นใจว่าปะการังจะมีความแข็งแรงและทนทานต่อสภาวะใต้ทะเลได้ และได้พัฒนาสารพิเศษในการเคลือบผิวชิ้นงาน  เพิ่มประสิทธิภาพในการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง นอกจากการขึ้นรูปวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังแล้ว ปัจจุบันเอสซีจียังได้ใช้เทคโนโลยี 3D Cement Printing ในการขึ้นรูปเพื่อก่อสร้างอาคาร นับเป็นอีกหนึ่งโซลูชั่นที่เอสซีจีมุ่งมั่นพัฒนา เพื่อยกระดับมารตฐานอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยอีกด้วย”

โมเดล นวัตปะการัง

จากผลสำเร็จดังกล่าว เอสซีจี โดยธุรกิจ Cement and Construction Solution จะยังคงมุ่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรร่วมผลักดันการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ และเตรียมขยายผลไปสู่การสร้างเครือข่ายกับภาคประชาชน  เพื่อปลูกจิตสำนึกและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ (3D Cement Printing Technology) สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คุณเฉลิมวุฒิ สงวนญาติ หน่วยงาน Research and Innovation Center โทร. 081-843-0374

นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel

(Visited 668 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว