เปิดเวทีระดมสมอง ถอดบทเรียนชุมชน ‘ใช้น้ำหมุนเวียน’ ส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนสร้างอนาคตยั่งยืน

เมื่อปัญหาน้ำซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกชีวิต กระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศรุนแรงขึ้น หลายภาคส่วนจึงร่วมระดมสมอง ทำอย่างไรจึงจะใช้น้ำได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างความยั่งยืนให้ชุมชนเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมได้

เครือข่ายชุมชนจัดการน้ำ เครือข่ายภาคเอกชนที่สนับสนุนชุมชน และหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทด้านการจัดการน้ำ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ผอ.ศูนย์การศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง NIDA และ ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) รวมกว่า 100 คน ร่วมถอดรหัสความสำเร็จของ 4 ชุมชนต้นแบบจัดการน้ำหมุนเวียน เพื่อเป็นแนวทางขยายผลพลิกชีวิตให้ชุมชนอื่นที่ประสบปัญหา สู่ความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนต่อไป

จากชุมชนที่ประสบปัญหาขาดน้ำในฤดูแล้ง และน้ำท่วมในฤดูฝนทุกปี เพราะคลองหลักของชุมชนตื้นเขิน กักเก็บน้ำไม่ได้ ชุมชนต้องแย่งน้ำกันใช้ แต่สามารถลุกขึ้นมาแก้ปัญหาได้ ด้วยความรู้และจัดการน้ำด้วยตนเอง เช่น การทำ “เขื่อนใต้ดิน” เป็นบ่อน้ำประจำไร่นา โดยไม่ต้องรองบประมาณสนับสนุน และการทำ “บ่อน้ำหมุนเวียน” เพื่อใช้น้ำซ้ำในครัวเรือน จนมีน้ำไปใช้เพาะปลูกไม้ดอกไม้ประดับ สร้างรายได้ตลอดฤดูกาล เฉลี่ยกว่า 2 หมื่นบาท/ครัวเรือน/เดือน

ปัจจัยความสำเร็จ มาจากการมีกลุ่มแกนนำที่เข้มแข็ง เก่งกันคนละด้าน ประสานงานกันได้อย่างดีเยี่ยม สามารถชวนคนในชุมชนมาแก้ปัญหาร่วมกันได้ ทุกหมู่บ้านในตำบล โดยชุมชนที่ประสบความสำเร็จแล้วจะเป็นพี่เลี้ยงให้หมู่บ้านอื่น และการมีวิธีคิด การวางแผน และระบบการจัดการที่ดี จากการเก็บข้อมูลทุกด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำ แต่รวมทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสุขภาพ เพื่อให้ตอบโจทย์ทุกคนในชุมชนได้

ชุมชนศาลาดิน จ.นครปฐม – แก้ปัญหาน้ำเสียเป็นคลองสวย เกิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและนาบัว ปลูกข้าวได้ปีละ 3 รอบโดยไม่ต้องหว่านใหม่

จากชุมชนที่พึ่งพาการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ประสบปัญหาทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย และน้ำกร่อย เป็นสาเหตุของความขัดสน จนกลายเป็น “นักร้องเรียน” ที่ใช้การร้องเรียนเป็นวิธีแก้ปัญหา พลิกสู่การเป็น “นักปฏิบัติ” จัดการน้ำเสียและใช้น้ำหมุนเวียน ด้วยการพึ่งพาตนเอง ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชสวนครัว เลี้ยงปลา และทำนาบัว พัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และยังนำผักตบชวามาสร้างรายได้ให้ชุมชนได้อีก

ปัจจัยความสำเร็จ มาจากการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง  การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น การใช้กังหันน้ำเติมอากาศด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ชุมชนภูถ้ำภูกระแต จ.ขอนแก่น – ชุมชนที่แล้งซ้ำซากมากว่า 40 ปี แต่จัดการน้ำหมุนเวียนจนมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี และมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นรวมปีละ 5 แสนถึง 9 แสนบาท

จากชุมชนแล้งที่สุดในภาคอีสาน เพราะฝนตกน้อยที่สุด ซ้ำยังเก็บน้ำไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่สูงลอนคลื่น น้ำไหลลงสู่ที่ต่ำหมด ดินปนทราย เก็บน้ำไม่ได้ เรียนรู้วิธีต้อนน้ำเพื่อกักเก็บและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ลอนคลื่นตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ รับน้ำหลากจากที่สูง กระจายน้ำสู่แหล่งน้ำเดิมตามระดับความสูง  ใช้น้ำหมุนเวียนได้ถึง 5 รอบโดยไม่มีต้นทุน กว่า 2,000 ครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอตลอดปี

ปัจจัยความสำเร็จ มาจากการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน ระหว่างมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และเอสซีจี ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนที่เรียนรู้การพึ่งพาตัวเองได้ ด้วยการร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ตลอดจนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ ในการสำรวจโครงสร้างแหล่งน้ำ สถานะแหล่งน้ำ ทางน้ำธรรมชาติ ความต้องการใช้น้ำ และใช้แนวทางแก้ปัญหาที่เน้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้สู่การลงมือปฏิบัติ ปรับเปลี่ยนวิธีคิด พลิกชีวิตด้วยปัญญา ตามแนวพระราชดำริ

ชุมชนบ้านสาแพะเหนือ จ.ลำปาง – พลิกชีวิตที่เคยมีหนี้สินท่วมท้น จัดการน้ำ ปลูกพืชส่งออกทำรายได้กว่า 11 ล้านบาท ใน 3 เดือน

จากชุมชนที่ปลูกข้าวแต่ไม่ได้กินเพราะข้าวยืนต้นตายจากการขาดน้ำ แหล่งต้นน้ำมีสภาพตื้นเขิน จนทำกินไม่ได้ ขาดรายได้ กลับลุกขึ้นมาทำฝายและสระพวงคอนกรีต จนฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แหล่งต้นน้ำ และสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชนจากการปลูกถั่วพุ่มส่งขายต่างประเทศ

ปัจจัยความสำเร็จ มาจากการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ ด้วยการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น คู่กับงานพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำซึ่งเป็นเป้าหมายของชุมชน กระบวนการมีส่วนร่วมภายในชุมชน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ มีการประชุมเป็นประจำเพื่อให้เห็นภาพเดียวกัน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีคณะกรรมการที่ทุกคนในหมู่บ้านเป็นผู้เลือกมารับผิดชอบทั้งก่อนและหลังใช้เงินในการจัดการน้ำ แบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ตลอดจนมีพี่เลี้ยงที่เคียงข้างไม่ทอดทิ้ง

กลุ่มแกนนำ + เครือข่ายสนับสนุน และระบบคิด + ระบบจัดการ = หัวใจสำคัญสร้างต้นแบบชุมชนจัดการน้ำยั่งยืน

ปัจจัยความสำเร็จ เริ่มต้นจากกลุ่มผู้นำชุมชน ที่เข้มแข็ง ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และสามารถถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นได้ นอกจากนี้ ต้องมีเครือข่ายสนับสนุน ที่คอยเป็นพี่เลี้ยงในการส่งเสริมความรู้ คำแนะนำ และสนับสนุนให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง

นอกจากนี้ คนในชุมชน ต้องมี “ระบบคิด ที่ช่วยสร้างความเข้าใจ ได้แก่ มีเป้าหมายร่วม คือ รู้ปัญหาและมีวิสัยทัศน์ที่ตรงกัน มีข้อมูลและความรู้ คือ รู้จักชุมชนตนเอง รู้จักวิธีการจัดการน้ำ ตลอดจนแนวทางการสร้างอาชีพหรือการออมเงินที่จะเป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการจัดการน้ำ ผสมกับ ระบบจัดการ ที่ช่วยให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง ได้แก่ ความสามัคคี การพึ่งพาตนเอง การสร้างการมีส่วนร่วม การสื่อสารเพื่อสร้างแรงจูงใจ ความเชื่อใจ เกื้อกูล และแบ่งปันซึ่งกันและกัน

ถอดบทเรียนชุมชนต้นแบบ ใช้น้ำหมุนเวียน

ทั้งหมดนี้ นำไปสู่การจัดการน้ำหมุนเวียนที่ทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การทำผังน้ำ ซ่อม/ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม สร้างแหล่งกักเก็บน้ำใหม่ และเชื่อมโยงเครือข่ายน้ำ รวมทั้งการใช้น้ำหมุนเวียนในครัวเรือน

ติดตามผลการระดมสมองตลอด 1 เดือน เพื่อหาทางออกวิกฤตของโลก เรื่องการจัดการน้ำ การจัดการขยะ การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในภาคเกษตรกรรม และการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างพร้อมถอดบทเรียนสู่ความยั่งยืน และบทสรุปข้อเสนอสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในทุกภาคส่วนได้ ในงาน SD Symposium 2020 วันที่ 9 พ.ย. 2563 เวลา 13.30 15.00 น. ที่ www.sdsymposium2020.com

(Visited 673 times, 1 visits today)