เอสซีจี ร่วมกับ กนอ. และ 34 พันธมิตร ผนึกกำลังจิตอาสากว่า 4,500 คน เก็บขยะชายหาด จ.ระยอง

เอสซีจี โดยธุรกิจเคมิคอลส์ ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและบ้านฉาง จ.ระยอง จำนวน 34 องค์กร จัดกิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล จังหวัดระยอง ประจำปี 2562 หรือ International Coastal Cleanup 2019 (ICC 2019) เพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องขยะคือทรัพยากร พร้อมส่งเสริมการคัดแยกและการทิ้งขยะอย่างถูกต้องเพื่อลดปัญหาขยะในทะเล ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลก นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยขยะพลาสติก แก้ว และโลหะจะถูกคัดแยกเพื่อนำไปรีไซเคิล ส่วนขยะทั่วไปจะนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานหรือหมักเป็นแก๊สและปุ๋ยเพื่อการเกษตรต่อไป

ภายในงานมีจิตอาสากว่า 4,500 คน ร่วมเก็บขยะชายหาด นอกจากนี้ ผู้ร่วมงานยังจะได้รับความรู้จากนิทรรศการการจัดการปัญหาขยะและการให้ความรู้เรื่องการคัดแยกและการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง มุ่งแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2570 ตามนโยบายของภาครัฐ

ทั้งนี้ วันเสาร์ที่ 3 ของเดือนกันยายนของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล หรือ International Coastal Cleanup ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเก็บขยะชาดหาดพร้อมกันทั่วโลก ซึ่งจังหวัดระยองได้จัดกิจกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 สำหรับในปีนี้ จิตอาสาได้ร่วมกันเก็บขยะชายหาดตลอดระยะทางกว่า 15.1 กิโลเมตร
ณ บริเวณชายหาดแสงจันทร์-แหลมเจริญ อำเภอเมือง และบริเวณหาดน้ำริน-หาดพยูน-หาดพลา อำเภอ บ้านฉาง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดระยอง ภายใต้เคมเปญ #PullingOurWeight ซึ่งหมายถึงการรวบรวมปริมาณขยะที่หลุดรอดสู่ท้องทะเลกลับคืนสู่วงจรการบริหารจัดการขยะที่เหมาะสมและครบวงจร

จิตอาสากว่า 4500 คน ร่วมเก็บขยะชายหาด
จิตอาสากว่า 4500 คน ร่วมเก็บขยะชายหาด

ด้าน ดร. สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “กิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่ที่รวมตัวกันทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อชายฝั่งทะเล และช่วยสร้างจิตสำนึกการคัดแยกขยะเพื่อหมุนเวียนใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลของประเทศ”

จังหวัดระยองถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ทั้งยังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยม ระยองมีปริมาณขยะทั้งจังหวัดต่อเดือนเฉลี่ย 30,000 ตัน คิดเป็นขยะพลาสติกประมาณ 9,000 ตัน จึงมีความสำคัญอย่างมากที่ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกันคัดแยกและบริหารจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมและชายหาดต่าง ๆ

ด้าน ว่าที่ร้อยตรีพิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า “กิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากลมีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนแผนพัฒนาจังหวัดด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางระยองโมเดลที่มีเป้าหมายจะทำให้ขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้หมดโดยไม่มีขยะพลาสติกไปหลุมฝังกลบเลยภายใน 5 ปี”

ตลอด 16 ปี ของกิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากลที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ หน่วยงาน และประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้นทุกปี สามารถเก็บขยะได้แล้วกว่า 8 แสนชิ้น รวมน้ำหนักทั้งสิ้นกว่า 89,000 กิโลกรัม โดยข้อมูลของขยะที่เก็บได้จะถูกส่งไปยังองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรวมกับประเทศอื่น ๆ ในการแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน

จิตอาสากว่า 4500 คน ร่วมเก็บขยะชายหาด
จิตอาสากว่า 4500 คน ร่วมเก็บขยะชายหาด

ด้าน นายเจริญชัย ประเทืองสุขศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท อาร์ไอแอล 1996 จำกัด และบริษัท ระยองวิศวกรรมและซ่อมบำรุง จำกัด ในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า “ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้รณรงค์และสร้างจิตสำนึกเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเริ่มต้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานที่มุ่งเน้นให้เกิดการ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก”  ซึ่งเอสซีจีได้ขยายผลแนวคิดดังกล่าวไปสู่ชุมชน รวมถึงเครือข่ายอื่นๆ ที่สนใจ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาขยะในทะเลแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

ทั้งนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาขยะในทะเลมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินกิจกรรมเก็บขยะชายหาดมากว่า 20 ปี ภายใต้ชื่อโครงการ “หาดงามตา ปลากลับบ้าน” นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พัฒนาทุ่นกักขยะลอยน้ำเพื่อใช้กักขยะในบริเวณแม่น้ำ ป้องกันไม่ให้ขยะจากบกไหลสู่ทะเล โดยจะวางทุ่นร่วมกับ ทช. ใน 13 จังหวัดนำร่อง โดยตั้งเป้ากักขยะก่อนไหลลงสู่ทะเลให้ได้ 30 ตัน ภายในระยะเวลา 6 เดือน สำหรับขยะพลาสติกที่รวบรวมได้จากการเก็บบริเวณชายหาดชุมชนและภายในบริษัทฯ จะถูกนำมาใช้ในการทำถนนพลาสติกรีไซเคิล และทดลองผลิตเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลารีไซเคิลอีกด้วย”

(Visited 1,736 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว