เปิดเบื้องหลังองค์กรแห่ง Passion การเปลี่ยนแปลงคือโอกาส

คงจะดีไม่น้อยหากเราค้นพบ Passion หรือความมุ่งมั่นทุ่มเทที่ปลุกให้เราอยากตื่นมาทำงานทุกเช้า โดยเฉพาะในวันที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง ซึ่งทำให้ทั้งคนทำงานและผู้ประกอบการไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ ต่างก็ต้องเร่งปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ตลาดที่ต่างไปให้ได้

ล่าสุด “เอสซีจี” ซึ่งให้ความสำคัญกับการผลักดันคนรุ่นใหม่ที่มี Passion ในฐานะหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่จะร่วมขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย ด้วยการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์จากการคิดค้นนวัตกรรมสินค้า บริการ และโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความยั่งยืนให้กับลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดกิจกรรมเปิดบ้าน “SCG Open House” เป็นครั้งแรก ภายใต้แนวคิด “Discover Our Passion, Discover Your Passion” ให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจ ได้มาร่วมค้นหา Passion ในการทำงาน ตลอดจนการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ผ่านการเยี่ยมชมและรับฟังแนวคิดการขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม และการสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล จากทั้งพนักงานรุ่นใหม่และผู้นำองค์กรของเอสซีจี

เปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง ปราการด่านสำคัญของการสร้างคนและองค์กร

“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า โดยทั่วไปคนมักจะรู้จักเอสซีจีผ่าน 3 ธุรกิจหลักเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วเอสซีจียังมีเรื่องการให้บริการ การพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และตอบโจทย์ลูกค้าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นได้ ต้องอาศัย Passion โดยเฉพาะความกล้าในการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ๆ ดังนั้น การเปิดบ้าน SCG Open House ในครั้งนี้ จึงเป็นความตั้งใจของเอสซีจีที่อยากแชร์เรื่องราวต่างๆ ให้ทุกคนเห็น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเอสซีจีให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน

“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

“ลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะความต้องการสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาด คู่แข่ง ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท ฉะนั้น Passion ของคนเอสซีจี จึงเป็นการคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นกำลังใจ เพื่อคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ตลาด และสังคมที่เปลี่ยนไปให้ได้เช่นกัน”

 สร้างเรือเล็กด้านดิจิทัล ติดสปีดสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ในโลกสตาร์ทอัพ

“ดร.จาชชัว แพส” กล่าวในฐานะ Digital Transformation Director เอสซีจี ว่าบทบาทสำคัญของทีม Digital Transformation เปรียบเสมือนเรือเล็กที่ทำให้องค์กรปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงในยุค Digital Disruption ได้อย่างรวดเร็ว โดยมีหนึ่งในภารกิจ คือ การทำสตาร์ทอัพ ทั้งการร่วมมือกับภายนอก และการสร้างสตาร์ทอัพภายในองค์กร ที่แม้ว่ากว่า 95% ของสตาร์ทอัพในวงการมักล้มเหลวระหว่างทาง แต่เขาเชื่อว่าการเรียนรู้และทำทุกวันให้ดีขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้กระบวนการและนวัตกรรมต่างๆ ขับเคลื่อนไปได้

“Digital Transformation ต้องเชื่อมโยงกับสตาร์ทอัพผ่าน Corporate Venture ซึ่งเอสซีจีได้ตั้ง AddVentures ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานเข้าไปสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพต่างๆ รวมถึงการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อนำนวัตกรรมต่างๆ มาแก้ปัญหาให้องค์กร ซึ่งปัจจุบันได้นำไปใช้แล้วกว่า 70 ตัว ตลอดจนการทำ Data Analytic และ Digital Marketing เพราะเราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างขึ้นมาเอง แต่ต้องหาความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อให้ทุกอย่างเร็วขึ้น

“ดร.จาชชัว แพส” Digital Transformation Director เอสซีจี

นอกจากนี้ เอสซีจียังทำ Internal Startup หรือสตาร์ทอัพภายในองค์กร ภายใต้โครงการ “Hatch-Walk-Fly” ด้วยแนวคิดที่เชื่อว่าไอเดียต่างๆ ของสตาร์ทอัพซึ่งเป็นคนในองค์กรไม่ว่าใครก็ตามที่สนใจก็เหมือนไข่ ที่เรามีหน้าที่ต้องฟูมฟักให้ออกมาเป็นลูกนก จนสามารถเดิน และบินได้ด้วยตัวเองในที่สุด”

Internal Startup สนามแห่งโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีฝันของตัวเอง

หนึ่งในพนักงานที่ร่วมโครงการ Internal Startup ของเอสซีจีอย่าง “เจมส์ พฤทธิวรสิน” ผู้ร่วมก่อตั้ง Urbanice ซึ่งช่วยแก้ปัญหาด้านการสื่อสารข้อมูล ระหว่างนิติบุคคลและลูกบ้านในคอนโดหรือบ้านจัดสรรให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการทำสตาร์ทอัพนี้ว่า หลังจากตนได้ทำงานในตำแหน่งวิศวกรกับเอสซีจีราว 3 ปี ก็ได้สมัครขอรับทุนของเอสซีจีเพื่อไปศึกษาต่อด้านการบริหารธุรกิจ ด้วยความสนใจที่อยากจะทำธุรกิจใหม่ๆ แต่เมื่อเรียนจบกลับมาแล้วก็รู้สึกว่างานที่ทำอยู่ยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร จึงสนใจเข้าร่วมหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในโครงการนี้

“ผมอยากทำสิ่งที่เป็น Digital Product เมื่อเห็นว่ามีโครงการ Internal Startup จึงสมัครเข้าร่วมหลังเรียนจบและได้ทำงานไประยะหนึ่ง จากนั้นโครงการนี้จะมี Mentor และโค้ชเก่งๆ ในวงการสตาร์ทอัพที่เอสซีจีจัดมาให้ความรู้และคำแนะนำกับเราอยู่ตลอด และเมื่อได้เข้ามาทำสตาร์ทอัพจริงๆ แล้ว ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงคำว่า Ownership หรือความเป็นเจ้าของในธุรกิจนั้นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการได้ออกไปพบลูกค้า ซึ่งทำให้เรารับรู้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้

นอกจากโอกาสที่ได้รับจากเอสซีจี ทั้งการได้ทุนไปเรียนต่อ ได้ย้ายตำแหน่งหรือหน่วยงานไปเจอสิ่งใหม่ๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้เราประสบความสำเร็จและมายืนในจุดนี้ได้ คือการที่เราต้องเริ่มรู้จักตัวเองก่อนว่าอยากทำอะไร แล้วมุ่งหน้าไปศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง และหาโอกาสที่จะก้าวไปสู่สิ่งที่อยากทำให้ได้”

“เจมส์ พฤทธิวรสิน” ผู้ร่วมก่อตั้ง Urbanice

ให้แรงบันดาลใจ ไปสู่การออกแบบโซลูชั่นที่ดีกว่า เพื่อลูกค้าและองค์กร

ไม่เพียงแต่โครงการ Internal Startup เท่านั้นที่มุ่งผลักดัน Passion ของคนรุ่นใหม่ให้เป็นจริง แต่ทุกธุรกิจของเอสซีจี ก็เชื่อว่า Passion เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าและสังคมเช่นกัน ซึ่ง “วิจิตรวรรณะ บุรพจิต” Assistant Design Catalyst Manager ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี คือหนึ่งในพนักงานที่ได้รับโอกาสนั้น

“วิจิตรวรรณะ” เล่าให้ฟังว่า งานที่เธอทำเกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยเป็นการนำวัตถุดิบที่มีอยู่มาเพิ่มมูลค่า ด้วยการออกแบบที่มีความพิเศษเพื่อสร้างสรรค์ให้สินค้าเกิดความแตกต่างและเป็นที่จดจำ สิ่งนี้คือ Passion ของเธอที่ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าและองค์กร ซึ่งถูกเติมเต็มให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยโอกาสในการได้ไปศึกษาต่อในสาขาเฉพาะทาง

“เรามีแรงบันดาลใจที่อยากทำเรื่องการออกแบบ เพราะเห็นช่องว่างและปัญหาในธุรกิจ ประกอบกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว งานนี้จึงท้าทายมากว่าเราจะสามารถสร้างความแตกต่างให้สินค้าและบริการ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มหรือ Better Solution ที่ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าและองค์กรไปพร้อมกันได้อย่างไร อย่างการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารก็จะต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจลูกค้า รวมถึงสินค้าและบริการนั้นๆ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงจุด เช่น สามารถใส่อาหารหลายอย่างรวมกันได้และง่ายต่อการจัดอาหารของพนักงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบ นอกจากนี้ การได้รับโอกาสให้ไปศึกษาต่อด้าน Innovation Management ซึ่งเป็นทุนเฉพาะทาง ก็ทำให้เราได้เปิดหู เปิดตา เปิดมุมมองที่กว้างขึ้น และสามารถนำมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ด้วย”

“วิจิตรวรรณะ บุรพจิต” Assistant Design Catalyst Manager

พกความมุ่งมั่นที่เข้มข้น ไปค้นหาการพัฒนาที่ท้าทายในดินแดนใหม่

ขณะที่ “ศตพร ณ สงขลา” Business Development Manager ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ที่ได้รับโอกาสให้ไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ บอกเล่าถึงประสบการณ์นี้ด้วยความมุ่งมั่นว่า เธอไม่รีรอที่จะตอบตกลงทันทีเมื่อได้รับมอบหมายให้ไปทำงานที่อินโดนีเซีย หลังได้รับทุนเรียนจบ และแม้การไปทำงานจริงจะท้าทายกว่าที่คิด แต่เธอบอกว่าก็สนุกกว่าที่คิดเช่นกัน เพราะนอกจากจะต้องรับผิดชอบ การวางแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจแล้ว ยังต้องหาโอกาสใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้วย

“ทีมงานที่เต็มไปด้วย Passion มีส่วนสำคัญที่จะทำให้งานออกมาดี เพราะการที่ทุกคนพร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุข ทำให้เราก้าวข้ามอุปสรรคไปสู่เป้าหมายความสำเร็จที่วางไว้ได้ แต่การที่แต่ละคนมี Passion  มีความคิดที่หลากหลาย สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การทำให้ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน นอกจากนี้ อีกความท้าทายหนึ่ง คือการที่อินโดนีเซียเป็นประเทศใหญ่ ลูกค้าจึงกระจายอยู่ตามเกาะต่างๆ การจะไปพบลูกค้าได้จึงต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี รวมทั้งยังต้องก้าวผ่านความแตกต่างด้านวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่โซลูชั่นที่ดีให้ได้”

“ศตพร” ทิ้งท้ายว่า เราควรสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ตนเองอยู่เสมอ ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า เพื่อให้เกิดเป็นมิตรภาพที่ดีและเป็นพันธมิตรทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่องค์กรจะได้รับประโยชน์เท่านั้น แต่เราก็จะได้เรียนรู้การทำงานที่หลากหลาย เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ตัวเองด้วย

“ศตพร ณ สงขลา” Business Development Manager ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี

โอกาสและ Passion กุญแจสำคัญขับเคลื่อนนวัตกรรมของเอสซีจี

ทั้งหมดนี้ สอดคล้องกับที่ “รุ่งโรจน์” บอกว่า คนรุ่นใหม่ในบริบทของเอสซีจีไม่ได้มองที่เรื่องอายุ แต่มองถึงคนที่มีมุมมอง หรือทักษะด้านเทคโนโลยีเพื่อนำมาปรับใช้ในการทำงาน อีกทั้งยังต้องมีความกล้าที่จะลองคิด ลองทำ กล้ายอมรับความล้มเหลวและอุปสรรคต่างๆ เพื่อปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแนวทางในการบริหารคนรุ่นใหม่เหล่านี้ที่เอสซีจีให้ความสำคัญ คือ “การให้โอกาส” เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการที่สุด

“การที่คนรุ่นใหม่ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ทำให้เขากล้าที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งเอสซีจีก็ให้โอกาสเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการให้ไปเรียนต่อตามความชอบ ความถนัด การให้โอกาสในการเข้าไปทำตลาดในประเทศใหม่ๆ กระทั่งโอกาสในการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ฉะนั้นโอกาสและ Passion จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกปลูกฝังและถ่ายทอดต่อกันมาตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจของเอสซีจี

ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทำให้เราสามารถพัฒนาขึ้นได้ เพราะทุกคนคงหนีไม่พ้นสภาวะของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางครั้งอาจจะสำเร็จบ้าง เจออุปสรรคบ้าง หรืออาจจะล้มเหลว แต่บทเรียนที่สำคัญก็มักจะมาจากความล้มเหลวหรืออุปสรรคในการทำงานนั่นเอง”

ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ Discover Our Passion โดยพนักงานและผู้บริหารเอสซีจี

…นี่จึงถือเป็นสปิริตหรือ Passion ของเอสซีจี ที่จะเรียนรู้และนำเอาบทเรียนเหล่านั้นมาพัฒนาปรับปรุงคนและองค์กรต่อไปในระยะยาว รวมทั้งหวังให้เกิดการถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ในวันข้างหน้า

Published on: Oct 13, 2018

(Visited 1,502 times, 1 visits today)