เอสซีจี เชื่อมั่นกระแสเงินสดฯ แข็งแกร่งต่อเนื่อง เดินหน้าปรับตัวเร็วยิ่งขึ้น เร่งบุกตลาดส่งออกเติบโตสูง

ขณะที่เศรษฐกิจยังคงผันผวน การดำเนินธุรกิจอย่างเข้มแข็ง ปรับตัวรวดเร็ว ลงมือปฏิบัติทันที คือ แนวทางที่เอสซีจียึดมั่น เพื่อเดินหน้าธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว สร้างองค์กรเติบโตต่อเนื่อง ผ่านทุกสถานการณ์

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “เป้าหมายของเอสซีจี คือ การทรานส์ฟอร์มธุรกิจให้แข็งแกร่ง มีสุขภาพดีและคล่องตัว ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน หรือ EBITDA ที่เข้มแข็ง เมื่อเรามี EBITDA เข้มแข็ง เราสามารถนำเงินไปลงทุนเมื่อมีโอกาสดี ๆ เข้ามา สามารถนำไปลดหนี้ จ่ายเงินปันผลเพื่อดูแลผู้ถือหุ้นทุกคนต่อเนื่อง”

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

ปี 2567 เอสซีจีบริหารกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน หรือ EBITDA ด้วยการบริหารต้นทุนอย่างเข้มข้น เร่งพัฒนาและส่งมอบนวัตกรรมมูลค่าเพิ่มสูง รวมถึงขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ ทำให้ปี 2567 เอสซีจีมี EBITDA อยู่ที่ 53,946 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปี 2566 มีความมั่นคงและเข้มแข็ง สามารถจ่ายปันผลปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 5.00 บาท รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท คิดเป็น 95% ของกำไร ขณะเดียวกัน สามารถลดหนี้สุทธิได้ 16,777 ล้านบาท จากไตรมาส 3 ปี 2567

“EBITDA แสดงให้เห็นความเข้มแข็งของเอสซีจีจริง ๆ นี่คือความยืดหยุ่นของเรา เพราะหากมองเฉพาะกำไร อาจไม่เห็นความเข้มแข็ง เนื่องจากในช่วงนี้เอสซีจีพึ่งขึ้นโรงงานใหม่ โครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) จึงมีการรับรู้ค่าเสื่อมราคาทั้งหมด แต่หากมองที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน จะเห็นว่าธุรกิจยังมีศักยภาพสร้างรายได้ต่อเนื่อง”

ปีนี้เอสซีจี ตั้งเป้าดัน EBITDA มากกว่าเดิม สร้างความแข็งแกร่งต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกของตลาดอาเซียน โดยเฉพาะในเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดกลยุทธ์ของเอสซีจี และเป็นประเทศที่ GDP มีแนวโน้มเติบโตกว่าค่าเฉลี่ยโลก ด้วยแรงสนับสนุนจากกำลังซื้อในประเทศ การกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ และการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไทย ยังมีการลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานจากการเบิกจ่ายงบของรัฐที่คาดว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

โครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์

ขณะที่ธุรกิจแพคเกจจิ้ง หรือ เอสซีจีพี ขณะนี้การบริโภคภายในกลุ่มอาเซียน รวมถึงความต้องการใช้กระดาษบรรจุภัณฑ์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจเคมิคอลส์ หรือเอสซีจีซี วัฏจักรปิโตรเคมีเริ่มทรงตัว ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง บริษัทคงเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกระแสเงินสดและต้นทุน

ซีอีโอ เอสซีจี ย้ำว่า “โอกาสสำคัญในปีนี้ คือขายสินค้าไปในตลาดส่งออกที่มีโอกาส ควบคู่กับการปรับตัวที่รวดเร็ว บริหารกระแสเงินสดจากการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพต่อเนื่อง ซึ่งสามารถเห็นผลลัพธ์ที่ดีมาแล้วจากปีที่ผ่านมา เมื่อมีความคล่องตัว ยืดหยุ่นสูง จะพร้อมคว้าโอกาสต่าง ๆ ที่เข้ามาทันที”

บางส่วนของนวัตกรรมเอสซีจีที่ส่งออกไปทั่วโลก เช่น อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย เอเชีย โดย เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ส่งออกปูนคาร์บอนต่ำ คาดว่าปีนี้จะมียอดส่งออกได้อีกประมาณ 1 ล้านตัน ด้าน เอสซีจี เดคคอร์ ส่งออกกระเบื้อง X- PORCELAIN ความแข็งแรงสูง ได้ผลตอบรับดี ตั้งเป้าการส่งออกเติบโต 2 เท่าในปีนี้ ขณะที่ เอสซีจีพี ส่งออกบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์ บรรจุภัณฑ์อาหาร และกระดาษพิมพ์เขียน มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

ส่วนของการรุกปรับตัว มีความคืบหน้าตามแผน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ เอสซีจีซี เร่งเดินหน้าโครงการ LSP ด้วยการเพิ่มวัตถุดิบก๊าซอีเทน ที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระยะยาว โดยได้ทำสัญญาจัดหาวัตถุดิบก๊าซอีเทน ในระยะยาวเป็นผลสำเร็จ ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี เป็นระยะเวลา 15 ปี และเช่าเหมาเรือขนส่งก๊าซอีเทนระยะยาวอีก 3 ลำ ทั้งนี้ บริษัทจะเร่งจัดหาเรือในส่วนที่เหลืออีก 2 ลำ พร้อมทั้งสร้างถังเก็บและปรับปรุงโรงงาน ให้พร้อมรับก๊าซอีเทนให้ได้ภายในปี 2570 โดยโครงการนี้ใช้แหล่งเงินทุนภายในเอสซีจี

เดิมวางงบการลงทุนไว้ที่ 700 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ขณะนี้สามารถใช้เงินลงทุนเหลือเพียง 500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้คืนทุนได้เร็วยิ่งขึ้น โครงการก๊าซอีเทนจะเป็น Game Changer ที่ช่วยพลิกฟื้นธุรกิจเคมิคอลล์ ของเอสซีจีได้เป็นอย่างดี

โมเดิร์นเทรดวัสดุก่อสร้างและสินค้าเพื่อที่อยู่อาศัย ‘Mitra 10’ ที่อินโดนีเซีย

Published on: Feb 5, 2025 

(Visited 29 times, 31 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว