17 มีนาคม 2566 กรุงเทพฯ – สถานเอกอัครราชทูตไทย-สวีเดน ร่วมกับเอสซีจีและพันธมิตร ร่วมผลักดันโมเดล จัดการป่ายั่งยืนระดับโลกจากสวีเดน ประเทศแห่งการส่งออกไม้เศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และยังครองตำแหน่งผู้นำ ด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยเผยแพร่นวัตกรรมจัดการป่าสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายการอนุรักษ์ธรรมชาติและเศรษฐกิจ เช่น การพลิกฟื้นป่าที่เสื่อมโทรมทั่วประเทศที่เหลือเพียง 25% เพิ่มเป็น 75% ได้สำเร็จ รวมถึงการปลูกป่าไม้เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมเศรษฐกิจเติบโต เช่น ไม้แปรรูปสำหรับภาคก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม้แปรรูปสำหรับเฟอร์นิเจอร์ มุ่งหวังให้ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม นำโมเดลนี้ไปศึกษา เพื่อต่อยอดสร้างความยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “เวทีความร่วมมือด้านความยั่งยืนไทย-สวีเดน ปี 2566”
นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม กล่าวว่า “ภารกิจสำคัญของสถานเอกอัครราชทูตฯ คือการสานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่ความยั่งยืน โดยเชื่อมโยงความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อหาแนวคิดที่จะช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนแก่ประเทศไทย ซึ่งการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนของสวีเดน ที่นำมาเผยแพร่ในวันนี้ เป็นการเชื่อมโยงระหว่างป่าไม้ ชุมชน และเศรษฐกิจ ให้เติบโตไปพร้อมกัน เป็นการสร้างความผูกพันระหว่างป่ากับคน สอดคล้องกับพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่อง “ปลูกต้นไม้ในใจคน” ที่ต้องทำให้คนเข้าใจว่าเราปลูกต้นไม้ทำไม ประโยชน์คืออะไร ถ้าเราสามารถสร้างระบบอุตสาหกรรม และธุรกิจป่าไม้ที่ทำให้คนในชุมชน มีรายได้จากป่า เห็นคุณค่าจากป่า ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะร่วมกัน บริหารจัดการป่าอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องแนวคิด การบริหารจัดการป่าในวันนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง และเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์แห่งความยั่งยืนของไทย สวีเดน ปี 2566 ”
นายยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สวีเดนส่งออกไม้เป็นอันดับที่ 3 ของโลก มูลค่ารวมกว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ยังสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่เคยเหลือเพียง 25% เมื่อ 100 ปีก่อน เป็น 75% คือการใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (Forestry Act) ที่ทำให้ตัดไม้แต่ได้ป่า ถ้าตัดต้นไม้หนึ่งต้น ต้องปลูกเพิ่มอย่างน้อยสามต้น นอกจากจะได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ช่วยดูดซับคาร์บอน ลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังช่วยให้คนอยู่ร่วมกับป่า ใช้ประโยชน์จากป่า และมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าไปพร้อมกัน โดยได้ป่าไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน เช่น ไม้สำหรับการก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ ไม้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเศษไม้เหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล รัฐบาลสวีเดนหวังว่าโมเดล และประสบการณ์ที่นำมาแบ่งปันในวันนี้ จะเกิดความร่วมมือระหว่างสองประเทศ เพื่อขยายแนวคิดแห่งความยั่งยืนนี้ต่อไป”
นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีเห็นประโยชน์ จากโมเดลจัดการป่ายั่งยืนของสวีเดน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ลองศึกษา และนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม กับบริบทของประเทศ ซึ่งเอสซีจีให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าในการทำเหมืองปูนซีเมนต์ เพื่อให้ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ และขยายพื้นที่ป่าบก ป่าโกงกางและหญ้าทะเล รวมถึงการจัดการน้ำ เพื่อบำรุงรักษาให้ป่าอุดมสมบูรณ์ในโครงการ ‘รักษ์ภูผามหานที’ โดยได้เพิ่มพื้นที่ป่าไปแล้ว 1.2 ล้านต้น และสร้างฝายชะลอน้ำ 115,000 ฝาย ซึ่งช่วยชุมชนกว่า 306 ชุมชน 57,000 ครัวเรือน ทั่วประเทศ ใช้อุปโภค-บริโภคและการเกษตร ส่งต่อการจ้างงานกว่า 2,550 คน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้เพิ่มกว่า 5 เท่า โดยมีเป้าหมายปลูกป่า 3 ล้านไร่ 150,000 ฝาย เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ล้านตัน มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 ตามแนวทาง ESG 4 Plus
นอกจากนี้ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์หรือเอสซีจีพี ที่มีการใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบหลัก ได้นำระบบการบริหารจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) มาใช้กับพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมยูคาลิปตัสสายพันธุ์ใหม่ และใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพการปลูก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกษตรกรกว่า 3,800 ล้านบาทต่อปี
เอสซีจีเชิญชวนทุกภาคส่วน ทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมกันศึกษา ต่อยอด และออกแบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าของประเทศไทย ในรูปแบบใหม่ เพื่อให้มีพื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น และสามารถนำประโยชน์จากป่าไม้ ไปสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้กับประเทศและภูมิภาค ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”
ทั้งนี้สัปดาห์แห่งความยั่งยืนไทย-สวีเดน ปี 2566 จะมีตลอดทั้งสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 17-22 มีนาคม 2566 การผลักดันความร่วมมือ ที่เป็นรูปธรรมระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยกับสวีเดน จะช่วยส่งเสริมให้ไทยพัฒนาประเทศ ไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะด้านป่าไม้และเมืองยั่งยืน และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ทางเพจ Facebook ของ TNIU ที่ www.facebook.com/TNIUThailandNordicInnovation
Published on: Mar 17, 2023