ปัญหาขยะไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ หากแต่แท้จริงแล้วมันคือปัญหาใหญ่ของโลก ซึ่งถ้าไม่มีการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมก็จะสร้างผลกระทบ และความเดือดร้อนให้กับโลกของเราอย่างมหาศาล
อำเภอบ้านโป่ง คืออำเภอหลัก ของจังหวัดราชบุรี นับเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านการเกษตร การค้า และอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก ยังไม่ต้องพูดถึงความหลากหลายของจำนวนประชากร ที่มีผู้คนต่างถิ่น ทั้งในจังหวัดห่างไกล และใกล้เคียงเข้ามาพักอาศัย และทำงานในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมาก
ด้วยความที่มีจำนวนประชากรมากถึง 173,000 คน และผลิตขยะมากถึงวันละ 171 ตันต่อวัน ทาง SCGP ซึ่งมีโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์แห่งแรก ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านโป่ง ได้สนับสนุนโครงการ CSR ของชุมชนรอบโรงงาน รวมถึงชุมชนปลอดขยะ (Zero West) ของบ้านรางพลับที่เป็นชุมชนต้นแบบระดับประเทศ จากการเข้าประกวด โครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
SCGP จึงร่วมกับอำเภอบ้านโป่ง และ 17 องค์กรส่วนท้องถิ่น ขยายผลเรื่องการจัดการขยะไปยังชุมชนอื่น ๆ ในอำเภอ โดยกำหนดโครงการขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบการจัดการขยะมูลฝอย อำเภอบ้านโป่ง เพื่อส่งเสริมความรู้ในการจัดการขยะ และศึกษาตัวอย่างการปฏิบัติจริงจากชุมชนรางพลับซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบ เพื่อให้ประชาชนทั่วทั้งอำเภอจะได้มีความรู้ และสามารถจัดการขยะในชุมชนตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งโครงการดังกล่าวมีชื่อว่า ‘บ้านโป่งโมเดล’
นับตั้งแต่โครงการ ‘บ้านโป่งโมเดล’ ได้รับการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ในทุก ๆ ปีจะมี ‘โครงการประกวดชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ ซึ่งปัจจุบันได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว โดยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาอำเภอบ้านโป่ง ร่วมกับ SCGP ได้จัดพิธีมอบรางวัล ‘โครงการประกวดชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ Season 3’ ณ ห้องประชุมอาคารอารีน่า หมู่ที่ 17 ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยมีนายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นผู้มอบรางวัล และประธานในพิธี
ท่านผู้ว่าฯ ได้กล่าวชื่นชมอำเภอบ้านโป่งว่า “เป็นอำเภอที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน และมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง และมุ่งหวังจะนำบ้านโป่งโมเดล ขยายไปทั่วทั้งจังหวัด และทำให้ราชบุรีเป็นเมืองแห่งความสะอาด และปลอดขยะในอนาคตต่อไป”
ขณะที่ นายเกียรติศักดิ์ หอมเย็นใจ นายอำเภอบ้านโป่ง กล่าวว่า “เราต้องการขับเคลื่อนให้อำเภอบ้านโป่งของเราสามารถจัดการขยะในชุมชนของตนเองได้ ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินโครงการเมื่อปี 2562 ถึงตอนนี้ก็ได้ขยายผลไปทั่วทั้งอำเภอ และโครงการประกวดชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ในปีนี้ ก็มีชุมชนให้ความร่วมมือ เข้าร่วมประกวดมากถึง 20 ชุมชน โดยแต่ละชุมชนต่างก็มีกิจกรรม และวิธีการจัดการขยะในพื้นที่ของตนอย่างน่าสนใจมาก ๆ ซึ่งการจัดการมอบรางวัลดังกล่าวขึ้นมานั้น เราไม่ได้ต้องการให้เกิดการแข่งขันกันแต่อย่างใด หากแต่เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการขยะของทุก ๆ ชุมชนในอำเภอบ้านโป่ง”
ด้านนายแสงชัย วิริยะอำไพวงศ์ พนักงานจัดการอาวุโสประจำสำนักงาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า “ทาง SCGP ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมมือกับอำเภอบ้านโป่งในการสร้างชุมชนต้นแบบการจัดการขยะ และเราก็ยังจะเข้าไปร่วมส่งเสริมสนับสนุนชุมชนที่ได้รับรางวัลในวันนี้ ให้ก้าวไปสู่เวทีการประกวดชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ในปี 2566 ต่อไป”
“ขณะเดียวกันก็ยังได้นำแนวคิดในการจัดการขยะไปขยายผลต่อในจังหวัดที่ SCGP มีโรงงานตั้งอยู่ทั้ง จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดขอนแก่น ทำให้ปัจจุบันเราสามารถสร้างชุมชนต้นแบบการจัดการขยะได้ทั้งหมดถึง 96 ชุมชน และมีเป้าหมายที่จะขยายผลอย่างต่อเนื่องในอนาคต”
สำหรับผลการประกวดในครั้งนี้ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความรู้ในด้านการจัดการขยะ และสิ่งแวดล้อมได้คัดเลือกให้ รางวัลชนะเลิศ เป็นของ บ้านท่าศาลเจ้า หมู่ 6 องค์การบริหารส่วนตำบลลาดบัวขาว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นในเรื่องการจัดการขยะเฉพาะตัว สามารถนำยางรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้งานซึ่งมีอยู่จำนวนมากในชุมชน มาสร้างเป็นสนามเด็กเล่น ให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม สร้างมูลค่าจากขยะด้วยการนำขยะมาแปรรูปเป็นสินค้า และเครื่องประดับจำหน่ายเพิ่มรายได้ ขณะที่ผู้คนในชุมชนทุกหลังคาเรือนต่างก็ร่วมมือกันจัดการขยะอย่างเข้มแข็ง และสามัคคี
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ชุมชนหัวทุ่งหนองโรง หมู่ 3 เทศบาลตำบลกรับใหญ่ เป็นชุมชนที่สามารถนำเอาทรัพยากรหมุนเวียนมาใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้ฟืน หรือก้อนเห็ดที่ไม่ได้ใช้งานเป็นเชื้อเพลิง หลังจากจบกระบวนการจะได้ถ่านมาใช้งาน เศษถ่านนำมาทำถ่านอัดก้อน เป็นพลังงานอีกครั้ง หรือนำไปใช้ปลูกต้นไม้ ขี้เถ้าที่เหลือนำมาทำน้ำด่างเพื่อใข้ประโยชน์ต่อเป็นน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ชุมชนหนองกระจ่อยสร้างสรรค์ เทศบาลตำบลกระจับ เป็นชุมชนกึ่งเมืองที่โดดเด่นในเรื่องการนำเอาวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ มาทำเป็นเครื่องออกกำลังกาย และผู้คนในชุมชนต่างให้ความร่วมมือในการจัดการขยะกันเป็นจำนวนมาก
ขณะที่รางวัลชมเชย มี 3 ชุมชน ที่ได้รับรางวัลด้วยกัน ได้แก่ ชุมชนบ้านฆ้องน้อย หมู่ 12 เทศบาลเมืองท่าผา ชุมชนกึ่งเมืองที่นำขยะกำพร้า ที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น ถุงขนม ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม ต่าง ๆ มาหล่อเป็นอิฐบล็อก และทางเดินเท้าได้อย่างสวยงาม
ชุมชนบ้านตะคร้อ หมู่ 12 เทศบาลตำบลเบิกไพร ชุมชนกึ่งเมืองที่เชี่ยวชาญในการนำขยะ จำพวกผ้าที่ไม่ใช้แล้วนำมาหล่อปูนทำเป็นกระถางต้นไม้ และบ้านตลาดนัด หมู่ 13 องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งพยอม ซึ่งจัดการขยะในครัวเรือนได้อย่างดี รวมทั้งผลิตถังหมักเศษอาหาร ในแบบตัวเองขึ้นมาใช้เองได้ทุกหลังคาเรือน
ส่วนรางวัลชุมชนโชว์แอนด์แชร์ยอดเยี่ยม ในปีนี้ตกเป็นของ ชุมชนหนองกระจ่อยสร้างสรรค์ เทศบาลตำบลกระจับ ซึ่งเป็นชุมชนที่ผลิตเนื้อหาการจัดการขยะลงสื่อโซเชียลได้อย่างสม่ำเสมอ
ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ เป็นชุมชนในอำเภอบ้านโป่งที่ได้รับรางวัลในโครงการประกวดชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ Season 3 อย่างไรก็ตาม รางวัลที่ได้รับนั้น ถือเป็นความสำเร็จเพียงส่วนหนึ่ง แต่ความสำเร็จที่แท้จริงคือ ทุกชุมชนในอำเภอบ้านโป่งล้วนได้รับประโยชน์ ที่ล้ำค่ายิ่งกว่าทรัพย์สิน เงินทอง หรือถ้วยรางวัลใด ๆ
สิ่ง ๆ นั้นคือ บ้านเมืองที่มีแต่ความสะอาดน่าอยู่ อันเนื่องมาจากการจัดการรขยะอย่างยั่งยืน และทำได้จริง
Published on: Dec 27, 2022