ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จัดงาน SD Day 2019 (Sustainable Development Day 2019) ภายใต้แนวคิด “Circular Economy หมุนเวียนกลับมาใช้ให้คุ้มค่า ร่วมมือกัน สร้างชุมชนยั่งยืน” ถ่ายทอดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นทาง ส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรม ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก เพื่อลดปริมาณขยะออกสู่สิ่งแวดล้อม พร้อมผนึกพลังเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ธุรกิจ และชุมชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในจังหวัดระยองอย่างยั่งยืน โดยเปิดตัวโครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ภายใต้โมเดลการจัดการขยะในชุมชนที่เชื่อมต่อ “บ้าน–วัด–โรงเรียน–ธนาคารขยะ” นำแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” ของเอสซีจี มาช่วยอำนวยความสะดวก เพื่อเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล และลดปริมาณขยะฝั่งกลบ โดยมีชุมชนระยองและภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมงานกว่า 1,100 คน และได้รับเกียรติจาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายยุทธพล องอาจอิทธิชัย เป็นประธานในพิธี
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นเรื่องของการให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่การผลิต การใช้ และการวนกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ (Make – Use – Return) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรของโลกได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการนำทรัพยากรมาใช้ใหม่ได้มากยิ่งขึ้น คือ การบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นทาง มีการคัดแยกขยะ และทิ้งให้ถูกที่ โดยไม่หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมและแม่น้ำลำคลอง
“การบริหารจัดการขยะบกตั้งแต่ต้นทาง นอกจากจะได้วัสดุกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่แล้ว ยังช่วยลดปริมาณขยะในบ่อฝังกลบและขยะที่หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ถือเป็นการแก้ไขปัญหาขยะทะเลที่ตรงจุด เนื่องจากขยะทะเลส่วนใหญ่เกิดจากการหลุดรอดของขยะจากบกถึงร้อยละ 80 นอกจากนี้ ยังช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดเก็บ ขนส่งและกำจัดขยะของภาครัฐ สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ที่คัดแยก ในขณะเดียวกันยังช่วยประหยัดพลังงานในการผลิต ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยให้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น” นายธนวงษ์กล่าว
เอสซีจี ได้พัฒนา “บางซื่อโมเดล” ซึ่งเป็นโมเดลการบริหารจัดการขยะภายในสำนักงานใหญ่ เอสซีจี โดยเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่พนักงาน และส่งเสริมพฤติกรรม “ใช้ให้คุ้ม” “แยกให้เป็น” และ “ทิ้งให้ถูก” โดยมีหัวใจสำคัญ คือ การแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้ง และแยกตามประเภทวัสดุ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะและสามารถนำกลับมาสร้างประโยชน์ได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งนำระบบดิจิทัลเข้ามายกระดับการบริหารจัดการ รวบรวม และคัดแยกขยะ โดยพัฒนาแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” เพื่อช่วยให้ผู้รับขยะหรือธนาคารขยะทำงานได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น โดยแต่ละเดือนสามารถเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิลจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 45 ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าร้อยละ 50
จากความสำเร็จของบางซื่อโมเดล เอสซีจีได้ขยายผลการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางสู่ชุมชนรอบโรงงานของเอสซีจี เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบ เช่น ชุมชนบ้านรางพลับ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบจนเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) และได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการชุมชนปลอดขยะ ปี 2562 จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงชุมชน ต.บ้านสา และ ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง โรงเรียนและชุมชนมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง และโรงเรียนและชุมชนรอบบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
สำหรับจังหวัดระยองซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและได้รับเลือกเป็นพื้นที่นำร่องด้านการบริหารจัดการขยะ โดยกลุ่มโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastic) ซึ่งธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี นอกจากจะมีส่วนร่วมในการจัดตั้งโมเดลที่บ้านวังหว้า อ.แกลง แล้ว ล่าสุด ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ยังได้ร่วมกับจังหวัดระยอง เปิดตัวโมเดลการจัดการขยะภายในชุมชนที่เชื่อมโยงกันระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน และธนาคารขยะชุมชน ภายใต้โครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” เพื่อสร้างต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรและขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล และลดปริมาณการฝังกลบขยะ โดยฉพาะอย่างยิ่งในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง
“โครงการ ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” เกิดจากความร่วมมือระหว่างเอสซีจี ภาครัฐ และชุมชน เพื่อหาโมเดลที่เหมาะกับการจัดการขยะในพื้นที่ โดยพบว่าจังหวัดระยองมีปริมาณขยะสูงถึง 306,000 ตัน แต่นำไปรีไซเคิลเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น หากชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างถูกวิธี เชื่อมั่นว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิลได้อย่างแน่นอน” นายธนวงษ์กล่าว
สำหรับโครงการ ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ได้เริ่มทดลองใช้ใน 3 ชุมชนนำร่อง ได้แก่ ชุมชนโขดหิน 2 ชุมชนโขดหินมิตรภาพ และชุมชนเขาไผ่ โดยมีชุมชนร่วมโครงการนำร่องกว่า 80 ครัวเรือน ซึ่งในระยะเริ่มต้นสามารถนำขยะสู่การรีไซเคิลได้กว่า 6,500 กิโลกรัม ซึ่งในปี 2563 มีแผนจะเพิ่มจำนวนอีก 700 ครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นอีก 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนอิสลาม ชุมชนวัดชากลูกหญ้า และชุมชนมาบชลูด-ชากกลาง โดยเอสซีจีจะส่งเสริมผู้นำชุมชนและธนาคารขยะชุมชนในการจัดการขยะอย่างยั่งยืนต่อไป
“การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น สิ่งสำคัญคือความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และประชาสังคม ซึ่งเอสซีจีพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในผู้ขับเคลื่อน และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์และยั่งยืน” นายธนวงษ์กล่าวในตอนท้าย
นายยุทธพล องอาจอิทธิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า “จากการจุดประกายของเอสซีจี ทำให้ชาวระยองได้เริ่มรู้จักกับ “หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ช่วยตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนให้กับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สำหรับโครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” โมเดลการจัดการขยะโดยเอสซีจีร่วมกับจังหวัดระยอง และชุมชน ถือเป็นตัวอย่างของความร่วมมือร่วมใจของพวกเรา ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน และธนาคารขยะ รวมไปถึงเทศบาล ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ๆ ทั้งในจังหวัดระยองและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ”
ทั้งนี้ ภายในงาน SD Day 2019 ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้จัดเสวนาเรื่อง “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” รวมพลังความร่วมมือ เปลี่ยนขยะให้มีมูลค่า โดยมี พระมหานักรบ อัคคธัมโม เจ้าอาวาสวัดโขดหิน คุณถวิล โพธิบัวทอง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองมาบตาพุด ผอ.บุษบา ธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 และคุณภิรมย์ ชาลวัลย์ ประธานชุมชนและตัวแทนธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์
นอกจากนี้ ยังได้นำตัวอย่างความสำเร็จของบางซื่อโมเดล การให้ความรู้ชนิดของพลาสติกและการคัดแยกขยะเพื่อให้ขายได้ราคาดี ตลอดจนโครงการความร่วมมือเพื่อสิ่งแวดล้อมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนต่าง ๆ มานำเสนอแก่ชุมชนและผู้ร่วมงาน อาทิ โครงการทุ่นกักขยะลอยน้ำ และ หุ่นยนต์เก็บขยะลอยน้ำ 4.0 โดยความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อลดการรั่วไหลของขยะจากแม่น้ำลงสู่ทะเล โครงการ “Recycled Plastic Road” โดยร่วมมือกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย พัฒนาต้นแบบถนนเส้นแรกที่นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จ.ระยอง และขยายสู่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และโครงการหมู่บ้านจัดสรรของเอสซี แอสเสท โครงการ “Greenovative Lube Packaging” โดยร่วมมือกับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำแกลลอนใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเพื่อขึ้นรูปเป็นแกลลอนใหม่ และความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มประมงพื้นบ้าน ดำเนิน “โครงการบ้านปลา” เพื่อเปลี่ยนท่อ PE100 ที่เหลือจากกระบวนการทดสอบขึ้นรูป และต่อยอดด้วยการรวบรวมพลาสติกเหลือใช้ที่พบบริเวณชายหาดและแหล่งชุมชน เช่น ฝาขวดน้ำ ถุงพลาสติกหูหิ้ว มาเป็น “บ้านปลารีไซเคิล” เป็นต้น
SD Day (Sustainable Development Day) เป็นกิจกรรมที่ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จัดขึ้นที่จังหวัดระยองเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมและปลูกฝังจิตสำนึก รวมถึงสร้างความตระหนักในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ทั้งนี้ ได้จัดติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2548
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel