บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD แถลงผลประกอบการไตรมาส 4 และปี 2566 กำลังซื้อในตลาดต่างประเทศ รวมไปถึงความผันผวนของตลาดอสังหาฯ ในเวียดนามและราคาพลังงาน ส่งผลต่อรายได้-กำไร มั่นใจเศรษฐกิจไทยและอาเซียนทยอยฟื้นตัว เร่งเครื่องโครงการลงทุน กระเบื้องขนาดใหญ่ราคาสูงรุกตลาดเวียดนาม 1.38 ล้านตารางเมตร เตรียมผลิตไวนิล SPC 1.8 ล้านตารางเมตรป้อนไทยกลางปี เดินหน้าจับมือพันธมิตรเสริมความแข็งแกร่งช่องทางจัดจำหน่าย ขยายโครงการลงทุนเพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน พร้อมรับมือและเติบโตทุกสถานการณ์ตลาด
นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD ผู้นำธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยผลการดำเนินงานของ SCGD ไตรมาส 4 ประจำปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 6,802 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 179 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 และ 26 จากไตรมาสก่อนตามลำดับ ทั้งนี้ สอดคล้องกับความต้องการกระเบื้องเซรามิก ในประเทศไทยที่ยังทรงตัวในปีที่ผ่านมา จากการที่กำลังซื้อยังกลับมาไม่เต็มที่ รวมถึงยอดขายในภูมิภาคอาเซียน ที่ปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า สืบเนื่องจากสถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเวียดนาม และกำลังซื้อที่หดตัวลงในประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ตลาดเซรามิกจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ตามภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิก ในภูมิภาคอาเซียนที่มีสัญญาณทยอยฟื้นตัวในแต่ละประเทศ
ด้านผลประกอบการปี 2566 ซึ่งหากไม่รวมผลกระทบจากการปรับโครงสร้าง และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 28,312 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีกำไร 817 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 30 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกำลังซื้อในตลาดต่างประเทศ รวมไปถึงความผันผวนของตลาดอสังหาฯ ในเวียดนาม ประกอบกับราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก 2566 แต่ยังมีปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิต คือ ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง ตั้งแต่ประมาณกลางปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสามารถคงราคาขายเฉลี่ย ของกระเบื้องและสุขภัณฑ์ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วย โดยรายได้หลักจากการขายปี 2566 มาจากยอดขายในประเทศไทย ทั้งธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและธุรกิจสุขภัณฑ์ จากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เริ่มฟื้นตัว แนวโน้มนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ
นายนำพล กล่าวว่า “SCGD มีจุดแข็งเรื่องแบรนด์สินค้า ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น COTTO, PRIME, MARIWASA และ KIA ซึ่งเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ทำให้เราเป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยส่วนแบ่งตลาดกระเบื้องเซรามิกเป็นอันดับ 1 ทั้งในไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ และครองส่วนแบ่งตลาดสุขภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในไทย ประกอบกับการที่บริษัทฯ มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายกว่า 800 ราย ร้านค้าเครือข่ายรวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 ร้าน ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ช่องทางจัดจำหน่ายของบริษัทฯ และช่องทางออนไลน์ โดยมีตลาดส่งออกกว่า 57 ประเทศ ทำให้เรายังคงพร้อมเติบโต และคงสถานะความเป็นผู้นำธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิว และสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนได้ในทุกสถานการณ์ตลาด ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการเสริมศักยภาพผู้จัดจำหน่ายควบคู่กันไป โดยมุ่งเน้นให้มีสินค้าที่หลากหลายที่เกี่ยวกับการตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ อย่างครบวงจร เช่น Prime Group ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจกระเบื้องปูพื้น และบุผนังในประเทศเวียดนาม ร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ บริษัท จระเข้ เวียดนาม จำกัด วางจำหน่ายสินค้านวัตกรรมกลุ่มสินค้ากาวซีเมนต์และกาวยาแนว ภายใต้แบรนด์จระเข้ ผ่านเครือข่ายร้านผู้แทนจำหน่ายของ Prime Group ที่แข็งแกร่งกว่า 120 ราย
ล่าสุด แบรนด์ COTTO จับมือ HANSGROHE และ AXOR ผู้นำนวัตกรรมด้านสุขภัณฑ์ระดับโลกสัญชาติเยอรมัน เตรียมพลิกโฉมตลาดสุขภัณฑ์ Luxury ในไทย และขยายต่อยอดไปในอาเซียนด้วย เป็นการดำเนินการตามแผนงาน ที่จะขยายธุรกิจสุขภัณฑ์ (Bathroom) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลัก เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน
นายนำพล กล่าวว่า “บริษัทฯ ยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดทั้งไทย และอาเซียนแม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว จึงเป็นโอกาสที่ต้องเร่งลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรและเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อเตรียมไว้สำหรับรองรับความต้องการในอนาคต ตามกลยุทธ์ที่จะต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจตกแต่งพื้นผิวสู่ผู้นำในอาเซียน โดยมีเวียดนามเป็นฐานการผลิตกระเบื้องปูพื้น และบุผนังที่มีศักยภาพด้านการบริหารต้นทุน และการส่งออกในภูมิภาคอาเซียนเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยการลงทุนในเวียดนามมีเป้าหมายที่จะขยายตลาดระดับกลาง-บน จากโครงการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้ากลุ่ม “กระเบื้องเซรามิกพอร์ซเลน” และ กระเบื้องขนาดใหญ่ อีก 1.38 ล้านตารางเมตรต่อปี ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาขายเฉลี่ย สูงกว่ากระเบื้องทั่วไปและกำลังได้รับความนิยม โดยใช้งบลงทุนรวม 142 ล้านบาท ในการปรับปรุงเทคโนโลยี และเครื่องจักรที่โรงงาน ในภาคกลางของประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ SCGD ยังได้รับอนุมัติโครงการลงทุนมูลค่ากว่า 693 ล้านบาท เพื่อทดแทน และเพิ่มกำลังการผลิตกระเบื้องพอร์ซเลนเป็น 9.1 ล้านตารางเมตรต่อปี ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม เพื่อรุกขยายตลาดและตอบสนองความต้องการ ใช้สินค้ากระเบื้องพอร์ซเลนที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในช่วงปลายปี 2567”
ด้านโครงการลงทุนในประเทศไทยที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ได้แก่ การลงทุนเพิ่มสายการผลิต “กระเบื้องไวนิล SPC” ด้วยเงินลงทุน 138 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี คาดว่าจะสามารถป้อนสินค้า เข้าสู่ตลาดในประเทศไทยได้ในช่วงกลางปีนี้ ทั้งนี้ ตลาด SPC/LVT เป็นตลาดที่ยังมีการเติบโตค่อนข้างสูงในประเทศไทย เวียดนามฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 8,000 ล้านบาทในปี 2565 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10,000 ล้านบาทในปี 2569 (อ้างอิงจากข้อมูล Euromonitor)
นายนำพล กล่าวว่า “บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นและให้ความสำคัญ ในส่วนของโครงการลงทุนเพื่อช่วยลดต้นทุน ด้านพลังงานซึ่งนอกจากจะเป็นการดำเนินการตามแนวทาง ESG แล้ว ยังเป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และความสามารถในการสร้างรายได้ โดยในปีที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการแล้วเสร็จ อาทิ โครงการลงทุนปรับปรุงสายการผลิตกระเบื้องขนาดใหญ่ ซึ่งเริ่มเดินสายการผลิตตั้งแต่กลางปี 2566 ตั้งเป้าช่วยลดต้นทุนกว่า 40-50 ล้านบาทต่อปี โครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มเติมที่ประเทศไทยและเวียดนามประมาณ 14.3 MW คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนเพิ่มเติมได้กว่า 50 ล้านบาทต่อปี สำหรับปี 2567 นี้ บริษัทฯ ยังคงมีแผนการลงทุนและการดำเนินงาน ลดต้นทุนด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยจะดำเนินการติดตั้ง Hot Air Generator ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าที่โรงงาน 3 แห่งในประเทศไทย ซึ่งหากแล้วเสร็จทั้ง 3 โครงการจะช่วยประหยัดต้นทุนพลังงานได้ประมาณ 60 -70 ล้านบาทต่อปี”
Published on: Jan 24, 2024