บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจีซี (SCGC) ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจร ระดับภูมิภาคที่มุ่งเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืน เปิดตัวโมเดล “มหัศจรรย์ชุมชน” (Amazing Community) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมาย SDG & ESG พร้อมเดินหน้าสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรมด้วยหลักพึ่งพาตนเอง ต่อยอดการสร้างอาชีพอย่างมีคุณค่า ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมโชว์ศักยภาพชุมชน และสร้างแรงบันดาลใจสู่สังคม ผ่านพลังมหัศจรรย์ของ 3 ชุมชน 3 กลุ่มวัย ได้แก่ ผู้สูงวัย สตรี และคนรุ่นใหม่
นางสาวน้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เผยว่า “SCGC ทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ในจังหวัดระยองมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ผ่านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การจัดตลาดนัดชุมชนภายในโรงงาน การใช้บริการต่าง ๆ จากท้องถิ่น ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่กว่า 56 ล้านบาทในปี 2566 ที่ผ่านมา”
“จากการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด ทำให้เห็นถึงศักยภาพ วิธีคิด และวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนหลากหลายกลุ่ม จึงนำมาสู่การถอดบทเรียนเพื่อการสร้างอาชีพอย่างมีคุณค่า ภายใต้โมเดล ‘มหัศจรรย์ชุมชน’ ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติ 1) คิดพึ่งพาตนเอง พร้อมพัฒนาตนเองอยู่เสมอ 2) ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต 3) สร้างโอกาส สร้างอาชีพให้กับผู้อื่น 4) ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ SCGC ยังได้นำเรื่องราวการสร้างอาชีพอย่างมีคุณค่าภายใต้โมเดลมหัศจรรย์ชุมชนจาก 3 ชุมชน 3 กลุ่มวัย ได้แก่ ผู้สูงวัย สตรี และคนรุ่นใหม่ มาเผยแพร่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และเตรียมขยายโมเดลดังกล่าวสู่วงกว้างต่อไป” ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม SCGC กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนางประไพ คชรินทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา ตัวแทนพลังมหัศจรรย์จากกลุ่มผู้สูงวัย กล่าวว่า “หลังจากเกษียณอายุราชการ มีความสนใจที่จะหางานอดิเรก ทำโดยได้ศึกษาข้อมูลมากมาย กระทั่งได้มารู้จักกับ ‘ชันโรง’ แมลงตัวเล็กที่ให้คุณค่ามหาศาล ให้น้ำผึ้งที่มีความพิเศษ มีสรรพคุณทางยา และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีประโยชน์มากมาย จึงตัดสินใจสร้างกลุ่มเครือข่ายผู้เลี้ยงชันโรง จนเกิดรายได้และพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ “บ้านมีชันดี” แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ สามารถเป็นแรงผลักดันให้ผู้สูงวัยในชุมชนได้หันมาสร้างคุณค่าให้ตนเองด้วยการเลี้ยงชันโรง และอาชีพเสริมอื่นๆ เพิ่มรอยยิ้มและเติมกำลังใจ ให้ผู้สูงวัยกลับมามีชีวิตชีวากันอีกครั้ง สร้างเครือข่ายความสุขในวัยเกษียณได้อย่างแท้จริง”
ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ มีเครือข่ายผู้เลี้ยงชันโรงมากกว่า 50 ราย สร้างรังให้ชันโรงกว่า 400 รัง โดย SCGC ได้นำผู้เชี่ยวชาญมาต่อยอดองค์ความรู้ นำน้ำผึ้งที่ได้ไปทดสอบเตรียมพร้อมที่จะขอรับ การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ GAP พร้อมทั้งช่วยขยายเครือข่าย และยกระดับผลิตภัณฑ์สู่สินค้าประจำจังหวัดระยอง
ด้านนางประคอง เกิดมงคล ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้า ชุมชนมาบชลูด ตัวแทนจากพลังมหัศจรรย์ของกลุ่มสตรี กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของกลุ่มฯ มาจากการรวมตัวของแม่บ้านที่มีข้อจำกัด และมีความจำเป็นในการดูแลสมาชิกในครอบครัว โดยรับงานตัดเย็บเสื้อผ้าในชุมชน แต่ก็มีอุปสรรคในเรื่องของการเดินทางมาตัดเย็บชิ้นงานของแต่ละคน จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นการตัดเย็บกระเป๋าผ้าแทน ซึ่งสมาชิกทุกคนสามารถทำที่บ้านได้ และทำได้วันละหลายชิ้นงาน ซึ่งเรามีการจัดสรรรายได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ทำให้กลุ่มแม่บ้านได้กลับมาเห็นคุณค่าในตัวเองอีกครั้ง และที่สำคัญคือช่วยกระจายรายได้ให้กับสมาชิกที่อยู่ภายในชุมชน จนในที่สุดเราได้พัฒนากระเป๋าผ้า ออกมาหลากหลายรูปแบบภายใต้แบรนด์ “ชลูด Chalüd” ที่มีสโลแกนว่า “ทุกรอยเย็บ มาจากรอยยิ้ม”
ทั้งนี้ SCGC ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบสินค้า การเสริมทักษะการตัดเย็บ และการส่งเสริมองค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการ การพัฒนารูปแบบการดีไซน์ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน การทำการตลาดออนไลน์ และการออกร้านในกิจกรรมต่าง ๆ
สำหรับนางสาวรัณยณา จั่นเจริญ ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง ตัวแทนพลังมหัศจรรย์คนรุ่นใหม่ กล่าวว่า “ความตั้งใจแรกคือ อยากให้สมาชิกในครอบครัว ได้ใช้ของที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ 100% ใช้แล้วปลอดภัยไม่เกิดอาการแพ้ จึงเริ่มศึกษาสูตรการทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติอย่างจริงจัง ทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด น้ำยาล้างจาน และอื่น ๆ เมื่อลองใช้กันเองในครอบครัวแล้วเห็นผลลัพธ์ที่ดี ก็เริ่มแบ่งให้คนรอบตัวได้ทดลองใช้ และเริ่มผลิตขายให้สำหรับผู้ที่สนใจ ภายใต้แบรนด์ “บ้านรลิณ” โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% จึงปลอดภัยต่อผู้บริโภค และน้ำทิ้งจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เราพิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุดิบเป็นพิเศษ มีการสร้างเครือข่ายกับเกษตรกรในพื้นที่ รับวัตถุดิบที่ปลูกแบบอินทรีย์ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อผลิตเป็นสินค้า ซึ่งช่วยกระจายรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย”
ทาง SCGC ได้เข้ามามีส่วนช่วยเติมเต็มวิสาหกิจชุมชน “บ้านรลิณ” ในเรื่องกระบวนการขอรับการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์การอาหารและยา หรือ อย. การทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการร่วมกันพัฒนาสารสกัดธรรมชาติอื่น ๆ รวมถึงเรื่องการสร้างแบรนด์ ออกแบบโลโก้ และทำการตลาด เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.scgchemicals.com/
Published on: Apr 19, 2024