เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง และเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ผนึกกำลัง 38 บริษัทชั้นนำ ตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างให้กรีนตั้งแต่การออกแบบสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในงานประชุมกลุ่มความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (CECI) ประจำปี 2024 ครั้งที่ 2

นายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง และประธานกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (Circular Economy in Construction Industry – CECI) พร้อมบริษัทในเครือข่ายทั้งหมด 38 บริษัท เข้าร่วมการประชุมประจำปี 2024 ครั้งที่ 2 ณ เอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ เพื่อร่วมหาแนวทางยกระดับ อุตสาหกรรมก่อสร้างด้วยนวัตกรรมสีเขียว ใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และลดคาร์บอนเพื่อโลกที่ยั่งยืน พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญ ด้านการออกแบบอาคารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับ การออกแบบอาคารสีเขียวมุ่งสู่ Net Zero

นายวิโรจน์ กล่าวว่า “เอสซีจี เล็งเห็นความสำคัญของการก่อสร้างที่มุ่งสู่ Net Zero ตามแนวทาง Inclusive Green Growth จึงริเริ่มก่อตั้งกลุ่ม CECI เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และพัฒนาหาแนวทางด้านนี้ ร่วมกับองค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมก่อสร้าง 38 บริษัทมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการพัฒนา Smart Design พร้อม Green Innovation ที่ใส่ใจในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างการมีส่วนร่วมลดคาร์บอนด้วยนวัตกรรมสีเขียว”

นายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง

การประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอาคารสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ รศ.ดร. ดารณี จารีมิตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาบรรยายเรื่องการออกแบบอาคารไปสู่ Net Zero ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทสำคัญของขั้นตอนการออกแบบต่อความยั่งยืนในโครงการก่อสร้าง ปริมาณคาร์บอนแฝงในอาคาร (Embodied Carbon) และแนวทางในการลดคาร์บอนแฝงจากกระบวนการก่อสร้าง รวมทั้งการปรับใช้แนวคิด การออกแบบอาคารที่มุ่งสู่ Net Zero ในระดับเมืองและชุมชน

นอกจากนี้ ดร.วิกรม เหล่าวิสุทธิชัย ผู้ช่วยคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังร่วมให้ความรู้เรื่อง Modular Construction ด้วยการยกตัวอย่างฮ่องกงซึ่งนิยมก่อสร้างด้วยระบบโมดูล่าร์ พร้อมทั้งปัญหาในการก่อสร้างที่เกิดขึ้นครั้งแรก และวิธีการแก้ไข รวมถึงโอกาสและการพัฒนา Modular Construction ต่อไป

ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอาคารสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมบรรยายเรื่องการออกแบบอาคารไปสู่ Net Zero

เอสซีจี ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง Inclusive Green Growth เน้นธุรกิจเติบโตควบคู่โลกที่ยั่งยืน หนึ่งในนั้น คือ การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มาสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ประกอบด้วย บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทสถาปนิกและที่ปรึกษาด้านการก่อสร้าง บริษัทผู้ผลิต บริษัทผู้รับหมาก่อสร้าง และบริษัทผู้ให้บริการจัดการของเหลือจากการก่อสร้างที่เน้นให้ความสำคัญกับ การจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ในงานก่อสร้าง และมีความสนใจนำเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ

จากสมาชิกเริ่มแรก 12 รายจนถึง 38 รายในปัจุบัน เกิดโครงการรูปธรรมมากมาย ที่นำนวัตกรรมมาช่วยจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้ง จากกระบวนการก่อสร้างเพื่อนำมากลับมาใช้ใหม่ อาทิ การใช้นวัตกรรม BIM ทั้งนำร่องโครงการ King Bridge Tower และโครงการก่อสร้างของกลุ่ม CECI ที่ดำเนินการร่วมกันตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การจัดซื้อจัดจ้าง และขั้นตอนการก่อสร้าง โดยใช้ BIM เป็นเครื่องมือในการออกแบบ เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดการเกิดของเสียที่หน้างาน และลดระยะเวลา ซึ่งเอสซีจีเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่ การสร้างโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Model) ที่ประยุกต์มาจาก “10 Circular Business Models for More Sustainable Construction” ของ Roland Berger รวมถึงให้คำแนะนำในการนำ หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มาปรับใช้ในโครงการต่าง ๆ

การประชุมประจำปี 2024 ครั้งที่ 2 ณ เอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ

Published on: Nov 29, 2024

(Visited 153 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว