‘เอสซีจี’ ชู องค์กรแห่งโอกาส สร้างคน นวัตกรรม วัฒนธรรม

สำหรับ “เอสซีจี” หรือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) องค์กรที่มีอายุยาวนานกว่า 111 ปี มีพนักงานกว่า 55,578 คน กว่าครึ่งอยู่ในต่างประเทศ และพนักงานส่วนใหญ่กว่า 58% เป็น คน Gen Y รองลงมา คือ Gen X และ Gen Z เวลากว่า 20 ปีที่ เอสซีจี ได้พูดถึงการเป็นองค์กรนวัตกรรม มีการก่อตั้งหน่วยงาน AddVentures by SCG บริษัทในรูปแบบ Corporate Venture Capital เพื่อหาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ดึงคนรุ่นใหม่มาทำงาน สอดรับนโยบายการทำ Digital Transformation และเปิดพื้นที่สร้าง ‘องค์กรแห่งโอกาส’ (Organization of Possibilities) เพื่อให้ทุกคนสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่

เปิดพื้นที่โชว์ศักยภาพ

“ปรเมศวร์ นิสากรเสน” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ – การบริหารกลาง เอสซีจี ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า คำว่า “องค์กรแห่งโอกาส” นิยาม คือ พื้นที่ให้โอกาสในการปลดปล่อยพลังได้อย่างเต็มที่ สามารถเข้าถึงศักยภาพสูงสุด ด้วยการมีเวทีให้แสดงออก ปรับวิธีการเติบโต ไม่ใช่ไปตามอายุงานแบบในอดีต ด้วยแนวทาง Inclusive Green Growth มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมกรีน ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกวัย ได้เข้ามามีส่วนในการสร้างการเติบโตบนพื้นฐาน Green

“ปรเมศวร์ นิสากรเสน” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ – การบริหารกลาง เอสซีจี

ทั้งนี้ จากเทรนด์ความต้องการของคนทำงานรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป เกิดเป็น “ZERO TO ONE by SCG” โครงการพัฒนาสตาร์ตอัปภายใน “HATCH-WALK-FLY” เปิดพื้นที่ให้คนที่มีไอเดีย อยากเริ่มต้นทำสตาร์ตอัป โดยมี Playground และ Workshop Space ให้ฝึกฝน ทดลองทำธุรกิจ ต่อยอด ไอเดีย พัฒนาศักยภาพทั้งความคิดและมุมมองสู่การสร้างธุรกิจใหม่ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น (Early stage) ระยะฟักไข่ (HATCH) ระยะเดิน (WALK) และระยะบิน (FLY) ขยายฐานลูกค้าเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ปัจจุบันโครงการ Zero to One by SCG ผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 800 คน, สตาร์ตอัปที่อยู่ในโครงการกว่า 100 ราย , 9 รายที่ได้โบยบินเป็นธุรกิจโซลูชั่นตอบโจทย์ยุคใหม่ และ มี 1 ราย อยู่ในระดับ Series-A คือ Dezpax แพลตฟอร์มออนไลน์แพคเกจจิ้งครบวงจรรายแรกในไทย สำหรับธุรกิจอาหาร ฟู้ดเดลิเวอรี่ และคาเฟ่ นอกจากนี้ ยังมี Wake Up Waste แพลตฟอร์มและรถบีบอัดขยะ ที่ช่วยให้การกระบวนการจัดการขยะ มีประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจสตาร์อัปที่สนับสนุนการเติบโตของสังคมสีเขียว อย่างยั่งยืนด้วยเช่นเดียวกัน

“องค์กรแห่งโอกาส ปลายทาง คือ ทำให้คนส่องแสงได้เต็มที่ ดังนั้น ไม่ได้แค่ให้โอกาส แต่ช่วยพัฒนา มีไอเดียยังไม่พอ แต่ต้องทำให้ไอเดียเกิดนวัตกรรม เกิด Business Model ให้ได้ ไม่ว่าจะการจัดหาโค้ช มี Resource ที่เหมาะสมที่จะทดลองไอเดีย”

โครงการพัฒนาสตาร์ตอัปภายใน “HATCH-WALK-FLY”

เชื่อมั่นในคุณค่าของคน

หากย้อนกลับไปนโยบายด้านการบริหารองค์กรในภาพใหญ่ ไม่ใช่แค่การบริหาร “คน” เท่านั้น แต่ต้องรวมถึง “นวัตกรรม” และ “วัฒนธรรม” ให้เดินไปพร้อมกัน เพราะการที่คนจะมีนวัตกรรมได้ ต้องมีการให้องค์ความรู้ มีกระบวนการ และ Resource ที่เหมาะสม การจะมีนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ต้องถูกฝังเป็นวัฒนธรรมขององค์กร นวัตกรรมต้องกลายเป็นดีเอ็นเอ ในสายเลือดของเอสซีจี ที่พยายามสร้างมากว่า 20 ปี ให้นวัตกรรมเป็นช่องทางในการตอบโจทย์ลูกค้า

ปรเมศวร์ อธิบายว่า เอสซีจีเชื่อว่า การบริหารคน คือ แกนกลางของการบริหารงาน หนึ่งใน 4 อุดมการณ์ คือ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน เพราะหัวใจของการแข่งขันในอนาคต คือ เรื่องของคน ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน การคัดเลือกคน การทำให้คนมี DNA สอดคล้องกับองค์กร มีวัฒนธรรมเชื่อใน Value เดียวกัน ตั้งแต่การก้าวเข้ามาทำงาน การพัฒนา และการเติบโตในองค์กร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในอนาคต

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา เอสซีจีได้พยายามทำความเข้าใจพนักงาน ในยุคสมัยที่ความต้องการเปลี่ยนไป โดยการจัดกระบวนการทำงาน การจัดสวัสดิการ สอดคล้องกับความต้องการ มีความยืดหยุ่น แต่ยังมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น “แพกเกจสวัสดิการ” คนรุ่นใหม่อาจจะมีครอบครัวน้อยลง และไม่ได้ใช้สวัสดิการบางส่วนที่เตรียมไว้ให้พ่อแม่ ลูกหลาน มีการนำสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefits) ให้สามารถเลือกได้

แพคเกจสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefits) สามารถเลือกได้

ขณะที่ ช่วงโควิด-19 มีการเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน Work from anywhere เพราะเชื่อว่าในหลายลักษณะงาน ไม่จำเป็นต้องอยู่ออฟฟิศทุกวัน เช่น หน่วยงานชื่อ WEDO ที่ทำเรื่องของดิจิทัล ซึ่งมีพนักงานอยู่ จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น ซึ่งสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสะดวกสบาย

คนเก่ง และ คนดี

ทั้งนี้ การคัดเลือกคนเข้ามาในครอบครัวของเอสซีจี ปรเมศวร์ กล่าวว่า ต้องการคนที่เป็นคนเก่งและคนดี “คนดี” ต้องเป็นคนที่มีแนวคิด ความเชื่อ เหมือนที่เอสซีจีมี การทำธุรกิจอย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม ส่วน “คนเก่ง” เก่งคิด เก่งเรียน เก่งคน เก่งเทคโนโลยี เก่งในหลายด้านที่ตอบโจทย์ธุรกิจ

“การคัดคนหลากหลายพอสมควร เริ่มตั้งแต่สื่อสารกับน้องๆ ที่ยังเรียนหนังสืออยู่ ให้เข้าใจว่าที่นี่คือที่ที่เขาสามารถปล่อยแสง ปล่อยพลังได้ สร้างอิมแพคต่อสังคมได้ การให้ทุนนักศึกษาที่ยังไม่เป็นพนักงาน เปิดกว้าง มีความหลากหลาย ในการดึง Talent เข้ามาอยู่กับเรา”

ปัจจุบัน พนักงานเอสซีจีซึ่งมีอยู่กว่า 55,578 คน มีความหลากหลายทั้งเพศ วัฒนธรรม และเจเนอเรชั่น การปิดช่องว่างระหว่างความหลากหลาย จึงเกิด Diversity Committee คณะกรรมการด้านความหลากหลาย แสดงให้เห็นถึงการตระหนักในเรื่องของช่องว่าง ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับองค์กร

“สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าชัดขึ้นเรื่อยๆ ที่มาพร้อมกับคนรุ่นใหม่ คือ Sense of purpose คนรุ่นใหม่ทำงานไม่ได้หวังจะรวยอย่างเดียว แต่เขาต้องการทำงานที่ตอบโจทย์ Purpose ที่เขามี ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการให้เขาได้รับจากการที่เข้ามาทำงานร่วมกับเอสซีจี คือ เขาได้สร้างอิมแพค เพราะเอสซีจีทำธุรกิจโดยพื้นฐานต้องการสร้างอิมแพคต่อสังคมในทางบวก ฉะนั้น หากน้องๆ เป็นส่วนหนึ่งได้ เขาน่าจะมีความภาคภูมิใจ ที่ทำให้ประเทศนี้ ภูมิภาคนี้ สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน” ปรเมศวร์ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอสซีจี’ ชู องค์กรแห่งโอกาส สร้างคน นวัตกรรม วัฒนธรรม

SCG Young Talent Program (YTP)

สำหรับ SCG Young Talent Program (YTP) เป็นโครงการประลองไอเดีย และเปิดโอกาสให้ทาเลนท์รุ่นใหม ได้เข้ามาฝึกงานในเอสซีจี ซึ่งจัดต่อเนื่องมาสู่ปีที่ 4 ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของการเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ และมีดีเอ็นเอของความเป็นนวัตกร ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจเอสซีจี ตลอดจนสร้างศักยภาพของประเทศไทยไปสู่อนาคต

เปิดกว้างให้นิสิตและนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยทุกชั้นปี ไม่จำกัดคณะทั้งในและต่างประเทศได้เข้าร่วม ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 850 คน โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทั้งยังได้มาเรียนรู้ผ่านการทำงานจริง รวมทั้งเรียนรู้วัฒนธรรมของเอสซีจี เป็นระยะเวลา 13 สัปดาห์ ทั้งนี้ ยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับเอสซีจีต่อไปในอนาคต

SCG Young Talent Program (YTP) โครงการประลองไอเดีย และเปิดโอกาสให้ทาเลนท์รุ่นใหม

ที่มา BANGKOKBIZNEWS

Published on: May 15, 2024

(Visited 653 times, 1 visits today)