ความร่วมมือคือพลังสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ขับเคลื่อนประโยชน์ให้ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“กองขยะมากมายที่รอการจัดการ คือความจริงที่ทุกคนต้องร่วมคิดและหาทางออก ไม่ใช่การทำงานของคนเพียงคนเดียว” คำกล่าวของ Ms. Kakuko Nagatani-Yoshida – Regional Coordinator for Chemicals, Waste and Air Quality, Asia and Pacific Office, UN Environment ในเวทีสัมมนา “Partnerships for Circular Economy” ในงาน “SD Symposium 10 Years: Collaboration for Action” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเอสซีจี เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ย้ำให้เห็นความสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ให้เกิดขึ้นจริง เพื่อลดภาระให้กับโลกอย่างเร่งด่วน เมื่อมีการขยายตัวของประชากร คู่ขนานไปกับข้อจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นต้นทางการผลิตสินค้าสู่ตลาด ด้วยการลดการใช้ทรัพยากรใหม่และเพิ่มการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเดิม

“หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องที่ดี แต่การจะทำได้ต้องอาศัยกระบวนการหลายอย่าง ที่สำคัญคือต้องมีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับชุมชน และต้องนึกถึงการทำให้เป็นสายโซ่ (Multiple Loop) และทำให้เกิดการระเบิดต่อๆ กันไป (Atomic Economy)” Mr. Jorge Chediek – UNOSSC Director and Envoy of the Secretary-General on South-South Cooperation กล่าว

จุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในทัศนะของผู้แทนแห่งองค์การสหประชาชาติทั้ง 2 ท่าน มีความเห็นตรงกันในเรื่องของวิกฤตการณ์ทรัพยากรที่มีน้อยลงจนอาจจะขาดแคลนในไม่ช้า ทำให้ทุกคนรวมทั้งภาคธุรกิจไม่อาจปฏิเสธได้ว่าโลกกำลังเผชิญปัญหานี้อยู่

“ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน เพราะเรากำลังนับถอยหลังให้โลกที่กำลังจะขาดแคลนทรัพยากรอย่างหนักในปี ค.ศ. 2050 และถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากเราซึ่งเป็นผู้สร้างไว้ในช่วงแห่งการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจที่ผ่านมา หนทางแก้ก็ต้องมาจากพวกเรา” Dr. Denis Nkala – Regional Coordinator and Representative, The United Nations Office for South-South Cooperation (UNOSSC), Asia and the Pacific Office กล่าว

Ms. Kakuko Nagatani-Yoshida - Regional Coordinator for Chemicals, Waste and Air Quality, Asia and Pacific Office, UN Environment
Ms. Kakuko Nagatani-Yoshida – Regional Coordinator for Chemicals, Waste and Air Quality, Asia and Pacific Office, UN Environment

จากความร่วมมือสู่การลงมือทำอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน

เป้าหมายในการทำงานของมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ ผ่านการช่วยเหลือด้านการสาธารณสุข ซึ่งมูลนิธิทำงานเพียงลำพังไม่ได้ จึงเป็นที่มาของโครงการสร้างห้องน้ำเพื่อชุมชนที่มูลนิธิจับมือกับเอสซีจีและสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เพื่อร่วมพัฒนาระบบและสร้างห้องน้ำสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะไปติดตั้งไว้ในชุมชนต่างๆ

“เป้าหมายของเราคือการลดความเสี่ยงด้านการเจ็บป่วย เพราะห้องน้ำที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสาธารณสุข” Dr. Doulaye Kone – Deputy Director, Bill & Melinda Gates Foundation เล่าให้ฟังต่อว่า การมองหาความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลายบริษัทยังคงตั้งเป้าหมายที่กำไร จากการปฏิวัติวิถีปฏิบัติเดิมๆ สู่เส้นทาง Circular Economy “ที่จริงแล้วเราจะช่วยชีวิตคนได้เยอะมากจากการจัดการด้านสาธารณสุขที่ดี แต่หลายคนยังมองไม่เห็นการทำเป็นรูปแบบธุรกิจ เพราะฉะนั้นเราต้องแลกเปลี่ยนกัน” เขาอธิบาย

สอดคล้องกับ Mr. Jorge Chedeik ที่ระบุว่า องค์กรส่วนใหญ่ยังทำงานกันโดยปราศจากการเชื่อมโยงเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน “เราอาจเริ่มต้นจากการทลายการทำงานแบบไซโลภายในองค์กรก่อน แล้วพาทุกคนก้าวเข้าสู่การทำงานที่มุ่งสู่การพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน จากนั้นจึงเริ่มมองหาพันธมิตรว่าเราจะสร้างความร่วมมือกับภายนอกองค์กรได้อย่างไร”

Mr. Jorge Chediek - UNOSSC Director and Envoy of the Secretary-General on South-South Cooperation
Mr. Jorge Chediek – UNOSSC Director and Envoy of the Secretary-General on South-South Cooperation

ด้าน Mr. Svein Rasmussen – CEO, Starboard ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาทางน้ำ ระบุว่า ยอดขายไม่ใช่เป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้ หากแต่การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรในธุรกิจเพื่อให้อุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างยั่งยืนบนความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและท้องทะเล คือคำตอบของการทำงานในศตวรรษนี้ ทำให้สตาร์บอร์ดเริ่มวิจัยและพัฒนาสินค้าจากการรีไซเคิล โดยเฉพาะแหจับปลาซึ่งเป็นขยะที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตของสัตว์ทะเลเป็นลำดับต้นๆ นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับกลุ่ม Trash Hero จัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาดและสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนรวมถึงสถาบันการศึกษา เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกและขยะในทะเลอย่างจริงจัง

“เราตั้งเป็นเป้าหมายในการทำงานร่วมกันเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม โดยสร้างพลังตามศักยภาพและความถนัดของตัวเองเพื่อให้การทำงานเดินไปได้ ส่วนของสตาร์บอร์ดได้เริ่มคิดจากผลิตภัณฑ์ เช่น ถ้าทำให้น้ำหนัก 1.4 กิโลกรัมของบอร์ดที่ผลิตขึ้นมาจากการนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ จะเห็นว่าจะกำจัดขยะทะเลไปได้มากแค่ไหน หรือจะนำรายได้จากการจำหน่ายสินค้ากลับไปปลูกป่าชายเลนได้พื้นที่เท่าไหร่ แล้วป่าชายเลนนี้ จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้โลกได้เท่าไหร่ ช่วยโลกได้อย่างไร” ทั้งหมดนี้จึงทำให้เราเห็นวงจรของเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ชัดเจนขึ้นตามความคิดของ Mr. Svein

เศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การปฏิบัติ 

การพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ Sustainable Development เป็นศาสตร์ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา และภายใต้แนวทางดังกล่าว เศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นเรื่องใหม่ แต่น่ายินดีว่าองค์ความรู้ในด้านนี้ถูกขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่เชื่อมั่นว่า การทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนจากการผลิต การใช้งาน และหมุนสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้งานนั้นกลับไปใช้ใหม่นั้น เป็นทางออกที่ยั่งยืนสำหรับธุรกิจในยุคที่ทรัพยากรมีจำกัดมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การพัฒนาองค์ความรู้และการปฏิบัติบนพื้นฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียนในเวียดนามซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่แต่มีกลไกขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพจนนำไปสู่การทำงานในเชิงนโยบายของประเทศได้

“เมื่อก่อนทุกคนเข้าใจแต่หลัก 3R หรือแค่รีไซเคิลก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่วันนี้เราต้องทำต่อจากรีไซเคิล คือการหมุนปลายทางของสินค้าเหล่านั้นกลับไปใช้ใหม่ ที่เวียดนามได้พยายามผลักดันให้เกิดข้อตกลงและกฎหมาย และพยายามเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน” Mr. Pham Hoang Hai – Partnership Development Head, Vietnam Business Council for Sustainable Development (VBCSD),  Vietnam Chamber of Commerce and Industry (VCCI) กล่าว

เช่นเดียวกับภาคส่วนอื่นๆ ที่มองว่าความท้าทายของการชักชวนให้ทุกคนร่วมเดินบนถนนแห่งเศรษฐกิจหมุนเวียน คือการประสานประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน “อันดับแรกเราต้องตั้งเป้าหมายร่วมกันให้ได้ก่อน แล้วเริ่มมาดูจุดแข็งของแต่ละคนว่าใครจะทำ ไรได้บ้าง เพื่อให้ปลายทางคือการพัฒนาให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ประโยชน์แก่ทุกคนได้จริง ซึ่งวันนี้เวียดนามดีใจที่ได้เห็นการทำงานในระดับอาเซียน โดยมีการทำงานร่วมกันเป็น Business Council เพื่อผลักดันให้ Circular Economy ขยายไปในวงกว้างขึ้น”

ขณะที่ Dr. Safri Burhanuddin – Deputy IV of Coordinating, Ministry for Maritime Affairs of Republic Indonesia กล่าวว่า รัฐบาลอินโดนิเซียมีส่วนอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริง จากการวางแนวทางนโยบายระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการทำงานในภาพใหญ่ และภาคเอกชนรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ก็ต่อยอดและรับเข้าเป็นวาระเร่งด่วน พร้อมมองหาแนวทางการทำงานร่วมกัน

“ตั้งแต่มีการประกาศว่าอินโดนิเซียเป็นผู้ผลิตขยะรายใหญ่ของโลก ชาวอินโดนิเซียก็ตกใจและพยายามทำทุกอย่างเพื่อลดปัญหาขยะที่ปล่อยลงสู่ทะเล รัฐบาลอินโดนิเซียก็รับเป็นวาระสำคัญโดยมี 18 กระทรวงทำงานร่วมกัน จากการศึกษาข้อมูลพบว่าร้อยละ 80 ของขยะที่ถูกทิ้งลงทะเลเกิดจากบนบก เราจึงเริ่มจัดการจากกลางเมืองเพื่อทำให้แม่น้ำในกรุงจาร์กาต้าสะอาด” เขากล่าวพร้อมย้ำว่า งานดังกล่าวจะเกิดผลสัมฤทธิ์ไม่ได้เลย หากขาดการช่วยเหลือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงกลุ่มองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังทำโครงการต่างๆ โดยใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นแกน เช่น การนำพลาสติกมาใช้ทำถนน เป็นต้น รวมทั้งรัฐบาลอินโดนิเซียยังตั้งเป้าในการรีไซเคิลพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวอย่างจริงจัง

เราพบว่าพื้นที่ทิ้งขยะส่วนใหญ่มีแต่ถุงพลาสติก กันยายนปีที่แล้วจึงมีการตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกันเพื่อจัดการเรื่องขยะ โดยมีเป้าหมายคือ ลดปริมาณพลาสติกให้ได้ในปี 2025 และพูดคุยกับรัฐบาลและภาคเอกชนของหลายประเทศ เพราะสิ่งนี้เป็นปัญหาของภูมิภาคที่ต้องจัดการ่วมกัน” Dr.Safri กล่าว

แผนภาพสรุปความคิด
แผนภาพสรุปความคิด

การเริ่มต้นประสานประโยชน์โดยมองไปยังปลายทางเดียวกัน คือก้าวแรกบนถนนสู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริง จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่วันนี้หลายองค์กรทั่วโลกได้เริ่มออกเดินด้วยความหวังว่าทรัพยากรของโลกจะถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำทรัพยากรกลับมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อต่อลมหายใจให้โลกของเราได้อีกยาวนาน

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและเนื้อหาเพิ่มเติมของงาน SD Symposium ได้ที่ http://bit.ly/31X1QGd หรือติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่  https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel

(Visited 686 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว