เอสซีจี แถลงผลประกอบการไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกปี 2562

ผลประกอบการไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกปี 2562 ของเอสซีจี กำไรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากกำไรที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ตามวัฏจักรปิโตรเคมี สงครามการค้าที่ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และเงินบาทที่แข็งค่า ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างกำไรเพิ่มขึ้น พร้อมเผยแผนเร่งเครื่องธุรกิจแพคเกจจิ้งรับโอกาสตลาดเติบโต

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ในไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2562 มีรายได้จากการขาย 110,330 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 6,204 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 35 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 12 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากผลประกอบการที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ เนื่องจากมีส่วนต่างราคาสินค้าปรับตัวลดลง การกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี จำนวน 1,063 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของบริษัทร่วม สงครามการค้าที่ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินบาทที่แข็งค่า ประกอบกับการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี (assets impairment) จำนวน 762 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำนวน 640 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเซรามิกในต่างประเทศ ทั้งนี้ หากไม่รวมการกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีดังกล่าว จะทำให้เอสซีจีมีกำไรสำหรับงวด 7,267 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2562 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 331,803 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 24,910 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ รายการสำคัญในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ประกอบด้วย ไตรมาสที่ 2 มีรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จำนวน 2,035 ล้านบาท ไตรมาสที่ 3 มีการกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี จำนวน 1,063 ล้านบาท และการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีจำนวน 762 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเซรามิกในต่างประเทศ ประกอบกับความกังวลจากสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ของทั้งบริษัทย่อยและบริษัทร่วม

โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) 44,450 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 6 จากไตรมาสก่อน ทำให้ใน 9 เดือนแรกของปี 2562 เอสซีจีมียอดขายสินค้า HVA 137,077 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ใน 9 เดือนแรกของปี 2562 ทั้งสิ้น 134,522 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 มีมูลค่า 611,503 ล้านบาท โดยร้อยละ 35 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2562 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้

ธุรกิจเคมิคอลส์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีรายได้จากการขาย 44,048 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 3,247 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 57 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 18 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของบริษัทร่วม รวมถึงการกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2562 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขาย 136,283 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 13,295 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 44 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าที่ลดลง

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีรายได้จากการขาย 45,317 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการชะลอตัวของตลาดเซรามิกในต่างประเทศ โดยมีกำไรสำหรับงวด 888 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 235 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2562 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีรายได้จากการขาย 139,555 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกและการจัดจำหน่าย โดยมีกำไรสำหรับงวด 4,801 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีรายได้จากการขาย 24,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการรวมผลประกอบการของ PT Fajar Surya Wisesa Tbk. และ Visy Packaging (Thailand) Limited โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,527 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 จากไตรมาสก่อน

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2562 ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีรายได้จากการขาย 65,974 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 4,245 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

VDO แถลงผลประกอบการไตรมาส 3/2562
VDO แถลงผลประกอบการไตรมาส 3/2562

นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า “แม้ผลประกอบการของเอสซีจีในช่วงไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกปี 2562 จะได้รับผลกระทบหลักจากธุรกิจเคมิคอลส์ที่มีกำไรลดลงตามวัฏจักรปิโตรเคมี เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าปรับตัวลดลงและส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของบริษัทร่วม แต่ธุรกิจเคมิคอลส์ยังมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก โดยล่าสุดได้นำนวัตกรรมพลาสติกเพื่อความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Passion for a Better World ไปจัดแสดงในงานนิทรรศการ K2019 ที่เยอรมนี ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมสินค้าพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก อาทิ เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนจากเทคโนโลยี SMX™ ของเอสซีจี ที่มีความแข็งแรง ทำให้ใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง แนวคิดนวัตกรรม Mono-Material Packaging ที่ทำให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่าย และเม็ดพลาสติกที่พัฒนาจากสูตรการผสมเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษของเอสซีจี กับพลาสติกชนิด Post-Consumer Recycled Resin (PCR) ตลอดจนการบริหารจัดการต้นทุนและการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น

นวัตกรรมจากธุรกิจเคมิคอลส์ PCR
นวัตกรรมจากธุรกิจเคมิคอลส์ PCR

ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างยังสามารถสร้างรายได้ให้เอสซีจีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตลาดจะค่อนข้างอ่อนตัวลงโดยเฉพาะตลาดเซรามิกในต่างประเทศ แต่เอสซีจียังคงมุ่งเน้นการรุกธุรกิจค้าปลีกและจัดจำหน่าย ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงนวัตกรรมสินค้าและบริการต่างๆ ในทุกช่องทางได้อย่างสะดวกสบาย หลากหลายโซลูชั่น ตลอดจนการพัฒนา Construction Solution ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ปัญหาการก่อสร้างอย่างครบวงจร พร้อมยกระดับวงการก่อสร้างไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

นวัตกรรมจากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง Solar Roof
นวัตกรรมจากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง Solar Roof

ส่วนธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่งมีศักยภาพที่โดดเด่นโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ทำให้เอสซีจีได้อนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัทเอสซีจี แพจเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) ไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนชำระแล้วของ SCGP ภายหลังการเพิ่มทุน และนำ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสร่วมลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อไปในอนาคต และเพื่อให้ SCGP สามารถระดมทุนมาใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจแพคเกจจิ้งของเอสซีจีทั้งในและต่างประเทศให้เติบโต รวมทั้งเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินให้มีความพร้อมในการรองรับการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต โดยที่เอสซีจีจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมีอำนาจควบคุม SCGP ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และ SCGP จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของเอสซีจีเช่นเดิม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เอสซีจีได้รับประโยชน์กลับมาจากผลการดำเนินงานของ SCGP ที่มีโอกาสสร้างมูลค่าการเติบโตในอนาคตได้ดียิ่งขึ้นด้วย” นายรุ่งโรจน์ กล่าวสรุป

นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ของธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี
นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ของธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี

การแจกจ่ายเอกสารฉบับนี้ไปยังประเทศหรือเขตอำนาจรัฐอื่น ๆ นอกจากประเทศไทย อาจเป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย ผู้ที่ได้รับเอกสารฉบับนี้ควรศึกษาและปฏิบัติตามข้อจำกัดทางกฎหมายนั้น ๆ เอกสารฉบับนี้ไม่ได้ถูกจัดทำเพื่อการเผยแพร่ การตีพิมพ์ หรือการแจกจ่าย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในหรือไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา

เอกสารฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อแจ้งข้อมูลเท่านั้น และไม่ถือเป็นการเสนอขายหรือการชักชวนให้เข้าซื้อหลักทรัพย์ใด ๆ และไม่มีการเสนอขายหรือซื้อหลักทรัพย์ในประเทศหรือเขตอำนาจรัฐใดที่การเสนอขาย การชักชวนการเสนอซื้อ หรือการขายหลักทรัพย์นั้นขัดต่อกฎหมาย หลักทรัพย์ที่กล่าวถึงในเอกสารฉบับนี้ยังไม่ได้นำไปจดทะเบียนภายใต้กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1933 รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม (“กฎหมายหลักทรัพย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา”) หรือกฎหมายของรัฐใด ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา และจะไม่มีการเสนอขายหรือการขายหลักทรัพย์ดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกา เว้นแต่จะได้มีการจดทะเบียนหรือได้รับยกเว้นการจดทะเบียนภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา และกฎหมายของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ยังไม่มีความประสงค์ที่จะจดทะเบียนไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดหรือว่าทั้งหมดของการเสนอขายหรือหลักทรัพย์ใด ๆ ที่กล่าวถึงในเอกสารฉบับนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือดำเนินการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริกา

(Visited 4,012 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว