พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ” แห่งที่ 16 ให้ “ โรงพยาบาลอุดรธานี จ.อุดรธานี”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” ภายใต้ “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน” ให้กับ “โรงพยาบาลอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี” เป็นแห่งที่ 16 โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้ 20 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อเสริมความพร้อมหากมีสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าว มีการแยกพื้นที่ระหว่างทีมแพทย์และคนไข้ออกจากกัน และใช้ระบบควบคุมแรงดันและคุณภาพอากาศที่เหมาะสม พร้อมมีระบบฆ่าเชื้อ ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยสามารถติดตั้งได้ในเวลารวดเร็ว ในสถานการณ์ที่เร่งด่วน ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งประชาชนที่มาตรวจรักษาได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีการแยกพื้นที่ระหว่างทีมแพทย์และคนไข้ออกจากกัน และใช้ระบบควบคุมแรงดันและคุณภาพอากาศที่เหมาะสม พร้อมมีระบบฆ่าเชื้อ ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ทั้งยังช่วยให้การเก็บตัวอย่างเชื้อส่งตรวจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยังความปลื้มปีติแก่บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่า ต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ทั้งนี้ พิธีรับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าว มี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายแพทย์ปรเมษฐ์     กิ่งโก้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี นายแพทย์ณรงค์ ธาดาเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี และนายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดอุดรธานี ร่วมพิธีรับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าว

พิธีรับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า “ประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานี บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนของโรงพยาบาลอุดรธานี รู้สึกซาบซึ้งและสานึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และจะนำนวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อที่ได้รับพระราชทานในครั้งนี้ ไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุดเต็มกำลังความสามารถ และเพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำงานเป็นแนวหน้า อีกทั้งเป็นกำลังหลักในการักษาผู้ป่วยให้มีขวัญ มีกำลังใจ และมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานต่อไป”

 นายแพทย์ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า “การได้รับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อนี้ ถือเป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจ สร้างความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณะสุข ให้มีความพร้อมและสามารถปฏิบัติทำงานได้อย่างเต็มที่ในการดูแลประชาชน ในจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง เป็นการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณะสุขเพื่อพร้อมกับสถานการณ์เปิดเมืองในอนาคต”

 นายแพทย์ณรงค์ ธาดาเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี กล่าวว่า “การที่โรงพยาบาลอุดรธานีได้รับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) ในครั้งนี้ พวกเรารู้สึกปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ อันเป็นการเพิ่มขวัญและกำลังใจต่อบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นประชาชนในจังหวัดอุดรธานี และจากจังหวัดใกล้เคียงอีก 6 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลาภู และบึงกาฬ โดยโรงพยาบาลอุดรธานีเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งแต่ละวันมีผู้ป่วยมารับบริการเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ย 3,000 คนต่อวัน

นวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)

ดังนั้น ถ้าเรามีห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) จะช่วยลดอัตราเสี่ยงจากการติดเชื้อและให้ ความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ลดลง ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) ยังสามารถต่อยอดสู่การตรวจหาเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ และยังเป็นประโยชน์ในการพัฒนานักศึกษาแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรด้านสุขภาพ โรงพยาบาลอุดรธานีต่อไปได้อีกด้วย”

ขณะที่ นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจี รู้สึกปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้มีส่วนร่วมในการผลิตนวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) เพื่อช่วยปกป้องแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ขณะปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการตอบแทนความเสียสละและอุทิศตนของท่านทั้งหลายที่ได้ช่วยกันดูแลรักษาผู้ป่วย และยังช่วยปกป้องประชาชนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ โดยห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าว พัฒนาจากเทคโนโลยีของ SCG HEIMและ Living Solution ซึ่งได้ออกแบบให้มีระบบที่จะช่วยควบคุมแรงดันและ การหมุนเวียนของอากาศให้สะอาด ปลอดภัย มีระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล ที่ทำให้ห้องปิดสนิท ป้องกันอากาศเข้า-ออกตัวอาคาร ทำให้ภายในอาคารสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้มากขึ้น สำหรับห้องตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลอุดรธานีได้ติดตั้งในบริเวณที่เชื่อมต่อกับจุดคัดกรองผู้ป่วยเดิมของโรงพยาบาล และด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งของทางโรงพยาบาล และความชำนาญของทีมติดตั้ง จึงทำให้การดำเนินการต่าง ๆ สำเร็จได้ด้วยดี พร้อมที่จะให้บริการแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่มาใช้บริการที่ โรงพยาบาลอุดรธานี ได้ในทันที”

นวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) พัฒนาจากเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution

นวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) นี้ พัฒนาจากเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution ภายในห้องตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้ออกแบบให้มีระบบ Smart Indoor Air Quality (IAQ Smart) ที่ช่วยควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศให้สะอาด ปลอดภัย และระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล (Air Tightness) ที่ทำให้ห้องปิดสนิท ป้องกันอากาศเข้า-ออกตัวอาคาร ทำให้ในตัวอาคารสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เป็นอย่างดี โดยทีมแพทย์จะอยู่ในห้องความดันบวก ที่ไม่มีอากาศเสียจากภายนอกเข้าไป อากาศภายในจึงบริสุทธิ์ปลอดภัย ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจะอยู่ในห้องความดันลบ และมีระบบดูดอากาศเสียออกไปกำจัดอย่างต่อเนื่อง จึงป้องกันไม่ให้มีอากาศฟุ้งกระจายออกไปภายนอก เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่ทีมแพทย์ ซึ่งการเก็บตัวอย่าง (Swab) จะทำผ่านแผ่นอะคริลิกที่เจาะเป็นช่อง โดยแพทย์สามารถสอดมือผ่านช่องที่มีถุงมือคลุมด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อเก็บตัวอย่าง จึงลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากผู้ที่เข้ารับการตรวจพร้อมใช้แสงยูวีเข้มข้นสูง ฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ (UV Germicide) หลังจากการใช้งานในห้องทุกครั้ง ทั้งนี้ โครงสร้างกว่าร้อยละ 80 ประกอบขึ้นรูปภายในโรงงานที่มีการควบคุมคุณภาพและความสะอาดตลอดกระบวนการผลิต และยังสามารถติดตั้งได้รวดเร็ว

ทั้งนี้ โรงพยาบาล 20 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้รับพระราชทานนวัตกรรม “ห้องตรวจหาเชื้อ” พัฒนาโดย “เอสซีจี” ได้แก่ 1.รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ 2.รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว 3. รพ.กลาง 4. สถาบันโรคทรวงอก 5. สถาบันบำราศนราดูร 6. รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก 7. รพ.ตำรวจ 8. รพ.ราชบุรี 9. รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา 10. รพ.นครปฐม 11. รพ.อุตรดิตถ์ 12. รพ.สวรรค์ประชารักษ์ 13. รพ.นครพิงค์ 14. รพ.พหลพลพยุหเสนา 15.รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ 16.รพ.อุดรธานี 17.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 18. รพ.สุราษฎร์ธานี 19. รพ.สงขลานครินทร์ และ 20. รพ.หาดใหญ่

ช่วยปกป้องแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ขณะปฏิบัติหน้าที่
(Visited 1,236 times, 1 visits today)