กลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (CECI) 36 บริษัท ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย นำร่องโครงการ King Bridge Tower ใช้นวัตกรรม BIM ลดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

เครือข่ายความร่วมมือองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy in Construction Industry (CECI) นำโดยเอสซีจี พร้อมด้วยองค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมก่อสร้าง 36 บริษัท ร่วมประชุมหารือความคืบหน้าและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการและการลดเศษวัสดุในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ความร่วมมือนี้เข้าสู่ปีที่ 6 เกิดโครงการที่นำนวัตกรรมมาช่วยในจัดการเศษวัสดุที่เกิดจากกระบวนการก่อสร้าง เพื่อนำมากลับมาใช้ใหม่ นำไปสู่การก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ประธานความร่วมมือกลุ่ม CECI กล่าวว่า “เครือข่าย CECI มีพันธมิตรองค์กรชั้นนำในวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง 36 องค์กร มุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและลดเศษวัสดุในงานก่อสร้างตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด อันจะนำไปสู่การมีทรัพยากรใช้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ได้ร่วมกันจัดประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561”

“ความคืบหน้าของโครงการก่อสร้าง ที่ได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ และตัวอย่างความร่วมมือในเครือข่าย CECI เกิดผลเป็นรูปธรรม อาทิ โครงการ King Bridge Tower ถือเป็นโครงการนำร่องของกลุ่ม CECI ที่ดำเนินการร่วมกันตั้งแต่ กระบวนการออกแบบ การจัดซื้อจัดจ้าง และขั้นตอนการก่อสร้าง โดยใช้ BIM เป็นเครื่องมือในการออกแบบ เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดการเกิดของเสียที่หน้างาน และลดระยะเวลาก่อสร้าง โดยเอสซีจีเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่การสร้างโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Model) ที่ประยุกต์มาจาก “10 Circular Business Models for More Sustainable Construction” ของ Roland Berger รวมถึงให้คำแนะนำในการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มาปรับใช้ในโครงการ โครงการนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาให้เกิดระบบและโครงการอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

นอกจากนั้น ยังเกิดความร่วมมือในการจัดการ คอนกรีตเหลือใช้จากไซต์ก่อสร้าง อาทิ 1) บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ในโครงการเดอะ ฟอเรสเทียส์ 2) บริษัท TCC Asset ในโครงการ ONE Bangkok 3) บริษัทไทยโอบายาชิ  ในโครงการ O-Nes Tower และ 4) บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด ในโครงการเซ็นทรัล ศรีราชา เป็นต้น

ด้านนายอรรถสิทธิ์ วิทยกิจพิพัฒน์ General manager – Information Technology and Sustainability บริษัท จาร์ดีน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้ กล่าวว่า “กลุ่ม CECI ถือเป็นความร่วมมือของหลากหลายภาคส่วนที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจร่วมกันในการริเริ่ม และผลักดันให้เกิดกิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างพันธมิตร การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การต่อยอดองค์ความรู้เพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ จึงทำให้เกิดการทำงานอย่างที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทย”

โครงการ King Bridge Tower โครงการนำร่องของกลุ่ม CECI

กลุ่ม CECI ประกอบด้วย บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทสถาปนิกและที่ปรึกษาด้านการก่อสร้าง บริษัทผู้ผลิต บริษัทผู้รับหมาก่อสร้าง และบริษัทผู้ให้บริการจัดการของเหลือจากการก่อสร้าง มีแผนงานที่จะเผยแพร่ความรู้ เรื่องการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ ในงานก่อสร้างให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีความสนใจที่จะนำเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อมุ่งยกระดับการดำเนินอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Construction) อย่างยั่งยืนต่อไป

Published on: Oct 30, 2023

(Visited 598 times, 1 visits today)
ดาวน์โหลดข่าว