เอสซีจี เผยผลสำเร็จหนึ่งปีหลังนำ Blockchain มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงิน ช่วยลดระยะเวลาดำเนินการได้ 56,000 นาที อ้างอิงจากปริมาณรายการต่อวันหากมีคู่ธุรกิจเข้าใช้งานแพลตฟอร์มตามแผน ลดต้นทุนต่อรายการได้ร้อยละ 70 และพนักงานคล่องตัวขึ้น ตั้งเป้าเพิ่มคู่ธุรกิจใช้งานแพลตฟอร์มจาก 240 ราย เป็น 2,400 ราย ให้ได้ภายในปี 2563 แนะองค์กรเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ชี้เกิดประโยชน์สูงสุดและช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้องค์กรและคู่ธุรกิจ
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน เอสซีจี กล่าวว่า “การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงิน หรือที่เรียกว่า “B2P” (Blockchain Solution for Procure-to-Pay) ของเอสซีจีกับคู่ธุรกิจนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำ Digital Transformation หรือการปรับเปลี่ยนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านการสร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญอย่าง “ดิจิทัล เวนเจอร์ส” ซึ่งเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินชั้นนำ เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจขององค์กรให้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยหลังจากที่เอสซีจีได้เริ่มใช้งานแพลตฟอร์ม B2P กับคู่ธุรกิจกว่า 240 ราย ที่ทำรายการจัดซื้อจัดจ้าง (Purchase Order) ประเภทวัตถุดิบ (Raw Materials) วัสดุสิ้นเปลือง (Supply) วัสดุอะไหล่ (Spare Part) และการให้บริการ (Service) มากว่า 1 ปี ก็มีผลเป็นที่น่าพอใจกับทั้งเอสซีจีและคู่ธุรกิจ เพราะนอกจากเทคโนโลยี Blockchain จะช่วยทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงิน มีความน่าเชื่อถือ (Reliability) แล้ว ยังช่วยเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องทั้งเครือข่ายเข้าด้วยกันเป็นอีโคซิสเทม (Ecosystem) ที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยสูง (High Security) จากการทำให้แต่ละรายการถูกเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัยและไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เกี่ยวข้องในเครือข่าย และช่วยลดความผิดพลาดได้ดียิ่งขึ้น จากการที่ระบบสามารถตรวจสอบรายการในจุดต่าง ๆ ได้อย่างอัตโนมัติและแม่นยำ
แพลตฟอร์ม B2P ยังช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงิน ได้กว่าร้อยละ 50 เหลือเฉลี่ย 35 นาที จาก 70 นาทีต่อรายการ จากการลดขั้นตอนในการรับ-ส่งข้อมูลและการตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ทำให้สามารถลดระยะเวลาที่ใช้ในการทำรายการตลอดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่อวันได้ 56,000 นาที อ้างอิงจากปริมาณรายการต่อวันเฉลี่ย 1,600 รายการหากมีคู่ธุรกิจเข้าใช้งานแพลตฟอร์มตามแผน รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนต่อรายการได้ร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับกระบวนการทำงานแบบเดิม และทำให้การทำงานมีความกระชับและคล่องตัว (Lean Process) มากขึ้น จึงสามารถเปิดโอกาสให้พนักงานได้พัฒนาทักษะให้สามารถทำงานอื่นที่มีคุณค่ากับองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียได้มากขึ้น เช่น การพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หรือสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์ต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจได้
นอกจากนี้ คู่ธุรกิจยังได้รับประโยชน์อย่างมากจากการใช้งานแพลตฟอร์ม B2P กับเอสซีจี เพราะทำให้สามารถตรวจสอบสถานะของรายการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ รวมทั้งได้รับชำระเงินตรงตามกำหนด จากขั้นตอนการตรวจสอบรายการที่มีความรวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้คู่ธุรกิจสามารถทำเรื่องขอสินเชื่อจากธนาคาร (Invoice Financing) บนระบบ B2P ได้สะดวกรวดเร็ว จึงทำให้คู่ธุรกิจเกิดสภาพคล่องทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งเอสซีจีก็ได้การสร้างการมีส่วนร่วมกับคู่ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และให้คำปรึกษา ตั้งแต่การเริ่มต้นใช้งานไปจนถึงการช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน ให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันบนแพลตฟอร์ม B2P ได้อย่างดีที่สุด
ทั้งนี้ เอสซีจีกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งานบนแพลตฟอร์ม B2P เพื่อขยายผลไปยังประเภทการจัดซื้อจัดจ้างอื่น ๆ โดยตั้งเป้าให้มีจำนวนคู่ธุรกิจที่เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์ม B2P 2,400 ราย ภายในปี 2563 รวมทั้งยังศึกษากระบวนการส่วนที่เป็นการขายสินค้าและบริการของเอสซีจีให้ลูกค้าหรือผู้แทนจำหน่าย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการส่งใบเรียกเก็บเงิน (Bill Presentment) การเก็บรวบรวมเอกสาร (Collection) และการจ่ายเงิน (Payment) ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกในมุมต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ รวมถึงสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาระบบต่าง ๆ นั้น เอสซีจีจะดำเนินการด้วยความระมัดระวังเพื่อให้มั่นใจว่าระบบจะมีความปลอดภัย สามารถป้องกันความเสี่ยงด้านการทุจริต คงความน่าเชื่อถือของข้อมูล และความแข็งแรงของระบบ โดยแพลตฟอร์ม B2P นี้ ได้รับการพัฒนาบนเทคโนโลยี R3 Corda for Enterprise ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่มีประสิทธิภาพ จึงช่วยสร้างความมั่นใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี”
นายธรรมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “แม้การนำเทคโนโลยี Blockchain หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความถูกต้องแม่นยำในการดำเนินธุรกิจได้ แต่ทุกองค์กรควรคำนึงถึงการใช้งานที่ช่วยทำให้ข้อมูลเกิดความน่าเชื่อถือ โดยองค์กรที่พึ่งเริ่มต้นนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ ก็อาจทดลองกับอีโคซิสเทมที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะคู่ธุรกิจที่มีความรู้และความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีนั้น ๆ เป็นอย่างดี เพื่อให้คนในองค์กรสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือต้องคิดและเริ่มต้นให้เร็ว เพราะยิ่งองค์กรก้าวได้เร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งได้ประโยชน์ในยุคที่เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากองค์กรใดต้องการเริ่มต้นใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม B2P เอสซีจีก็ยินดีที่จะแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับองค์กรต่าง ๆ ที่สนใจได้เช่นกัน”
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel